ภาษิตล้านนา

ล้านนามีภาษิตเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่ใช้กล่าวในชีวิตประจำวัน เป็นจำนวนมาก ซึ่งให้คติแก่บุคคลทุกระดับ แสดงให้เห็นภูมิปัญญาที่บรรพชน ล้านนานำข้อคิดจากประสบการณ์ในชีวิต ตลอดจนคติความเชื่อและคำสั่งสอน ในศาสนามาถ่ายทอดเป็นถ้อยคำที่มีความกระชับ มีจังหวะ มีความคล้องจอง ทำให้จดจำได้ง่าย ใช้วิธีการเปรียบเทียบทำให้มีความหมายลึกซึ้งเข้าใจได้ง่าย

นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมลายลักษณ์ที่เป็นวรรณกรรมคำสอนของ ล้านนาหลายเรื่อง เช่น เรื่องคำสอนพระยามังราย ปู่สอนหลาน ธรรมดาสอนโลก คดีโลกคดีธรรม เจ้าวิฑูรสอนหลาน พระลอสอนโลก มีเนื้อหาสอดคล้องกับ ภาษิตที่มีมาแต่โบราณ คำสอนเหล่านี้เป็นคำสอนเกี่ยวกับเรื่องการพูดจา ความประพฤติ กิริยามารยาท การทำมาหากิน ขนบธรรมเนียม ข้อห้าม ซึ่งเป็น ประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม

บรรพชนล้านนาได้ใช้ภาษิตเหล่านี้อบรม สั่งสอน กล่อมเกลา ปลูกฝัง คุณธรรมให้แก่ผู้คนทุกเพศทุกวัย ทุกสถานภาพ มาอย่างยาวนาน จึงส่งผลให้ คำสอนล้านนามีบทบาทสำคัญต่อทัศนคติและวิถีการดำรงชีวิตคนในสังคม เป็นอย่างมาก และสำหรับสังคมไทยปัจจุบันคำสอนเหล่านี้มิได้ล้าสมัย หาก แต่ยังสามารถนำมาใช้อบรมสั่งสอนได้เป็นอย่างดี อาจกล่าวได้ว่าภาษิตล้านนา นั้นนอกจากจะให้คติสอนใจโดยตรงแล้ว ยังให้ความรู้ในเรื่องคำศัพท์ สำนวน ความเปรียบ รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับทัศนะและวัฒนธรรมของคนล้านนาไป พร้อมกันอีกด้วย

โดยเหตุที่มีผู้รวบรวมภาษิตล้านนา พร้อมทั้งแปลความหมายและ พิมพ์เผยแพร่กันบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะนำเสนอภาษิตตามลำดับอักษร คณะกรรมการจัดทำเนื้อหาวิชาการด้านภาษาไทยถิ่น ภาคเหนือ จึงเห็นว่าใน การเผยแพร่ครั้งนี้น่าจะรวบรวมและจัดทำคำอธิบายภาษิตล้านนาที่มีความ

สอดคล้องเชื่อมโยงกันในแต่ละเรื่อง จัดเป็นหมวด เพื่อให้เห็นภาพรวมของ ข้อคิดในเรื่องนั้น ๆ นอกจากนี้ยังให้เสียงอ่านภาษาไทยถิ่นเหนือ คำอธิบายศัพท์ บางภาษิตที่ไม่มีคำอธิบายโดยละเอียดมาก่อน คณะกรรมการได้ตีความใหม่ เพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น