ภาษิตว่าด้วยการเลือกใช้คนให้ตรงกับงาน
ภาษิตนี้มุ่งสอนผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือผู้ที่จะต้องใช้งานผู้อื่น ให้รู้จักใช้คน ให้ตรงตามคุณสมบัติ ความสามารถ และวัยวุฒิ เพื่อทำให้การงานประสบ ผลสำเร็จ ดังภาษิตต่อไปนี้
ตอกสั้นหื้อมัดที่กิ่ว สิ่วสั้นหื้อสิ่วไม้บาง ๆ [ตอกสั้นหื้อมัดตี้กิ่ว สิ่วสั้นหื้อสิ่วไม้บาง ๆ] แปลว่า ตอกสั้นให้มัดตรงที่คอดกิ่ว สิ่วสั้นให้ใช้สิ่วไม้ บาง ๆ หมายความว่า เมื่อมีตอกสั้นควรเอาไปมัดของที่มีขนาดเล็กหรือมีจำนวน น้อย ถ้าเอาไปมัดของที่มีขนาดใหญ่หรือมีจำนวนมาก ก็จะมัดไม่ได้ เช่นเดียวกับ สิ่วสั้นให้ใช้เจาะรูหรือเซาะไม้แผ่นบาง ๆ คำสอนดังกล่าวนี้ใช้วิธีเปรียบเทียบ การใช้ของให้ตรงกับคุณสมบัติ เช่นเดียวกับผู้ที่เป็นหัวหน้าต้องรู้จักเลือกใช้คน ให้เหมาะสมตามความสามารถและตามประเภทของงาน จึงจะทำให้การงาน ประสบผลสำเร็จอย่างที่ต้องการได้ คำสอนนี้แสดงให้เห็นความฉลาดของ บรรพชนล้านนาที่นำของใช้ในการทำงานหรือสิ่งพบเห็นปฏิบัติอยู่เป็นประจำ เช่นการใช้ตอกมามัดสิ่งของหรือการใช้สิ่วในการทำงานเกี่ยวกับไม้ ทำให้เข้าใจ ง่ายเพราะเป็นสิ่งที่ทำหรือพบเห็นอยู่เสมอ
กิ่ว หมายถึง คอด
สิ่ว เป็นชื่อเครื่องมือของช่างไม้ ใช้สำหรับ ตอก เจาะ สลัก หรือ เซาะ
ภาษิตที่สอนให้รู้จักเลือกใช้คนให้ตรงกับงานบทต่อไปคือ
น้อยบ่ดีเอาเป็นอาจารย์ หนานบ่ดีเอาเป็นช่างซอ [น้อยบ่อดี เอาเป็นอาจารย์ หนานบ่อดีเอาเป็นช่างซอ] แปลว่า คนที่เป็นน้อยไม่ควรเอามา เป็นมัคนายก หรืออาจารย์ผู้ทำพิธีต่างๆ คนที่เป็นหนานไม่ควรเอามาเป็น ช่างซอ ที่สอนเช่นนี้เป็นเพราะว่า ถ้าให้น้อยไปทำหน้าที่ของหนาน แล้วให้หนาน ไปทำงานของน้อย ก็จะทำได้ไม่ดีทั้ง ๒ คน เพราะคนที่บวชเป็นเณรย่อมได้ ร่ำเรียนน้อยกว่าคนที่บวชเป็นพระจึงไม่เหมาะจะทำหน้าที่ "ปู่อาจารย์" ซึ่ง เป็นที่เคารพนับถือของผู้คน เป็นผู้รู้ภาษาบาลี รู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทำพิธีและ ทำหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาและพิธีกรรมต่าง ๆ ให้แก่คนในชุมชน เช่น พิธีขึด พิธีส่งเคราะห์ ส่วนการที่จะให้คนที่บวชเป็น พระที่มีอายุมากแล้วมาหัดเป็นช่างซอก็คงจะไม่ทันการณ์เพราะมีหลายทำนอง ที่จะต้องฝึกหัดและอาจมีเสียงไม่เพราะเหมือนคนอายุน้อย หรืออาจหมายถึง ว่ามีความรู้เกินกว่าการที่จะเป็นช่างซอ อีกทั้งในการแสดงซอมักมีถ้อยคำสองแง่ สองง่าม และอาจถูกกระแหนะเย้าแหย่จากผู้ชมด้วยคำคะนองต่าง ๆ ทำให้คน เสื่อมความนับถือศรัทธาได้
น้อย หมายถึง ผู้ที่ลาสิกขาขณะเป็นสามเณร
อาจารย์ [อาจ้าน] หมายถึง มัคนายก ซึ่งทางล้านนาจะเรียกว่า อาจารย์วัด [อาจำนวัด] หรือ ปู่อาจารย์ [ปู่อาจ้าน] เป็นผู้ทำพิธีเกี่ยวกับ ศาสนาหรือพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับความศักดิ์สิทธิ์โดยเป็นตัวกลางระหว่างผู้ต้องการ ทำพิธีและสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น ๆ
หนาน เป็นคำเรียกผู้ที่ลาสิกขาขณะเป็นพระภิกษุ
ผู้ที่เป็นน้อยและหนานนี้คนทางล้านนาจะให้ความนับถือ ยกย่องและ มักจะใช้เป็นคำนำหน้าชื่อของบุคคลผู้นั้น เช่น น้อยไชยา [น้อยไชยา] หนานสุข [หนานสุข] และถ้าจะเรียกผู้ที่เคยบวชเรียนมาแล้วก็จะเรียกรวม ๆ ว่า พี่น้อยพี่หนาน ปี้น้อยปี้หนาน]
ช่างซอ คือ ผู้ขับซอซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านของภาคเหนือที่มักจะ เป็นการขับโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง โดยมีปี่ซอเป่าประกอบ
ดังนั้นในการใช้ลูกน้อง ผู้ที่เป็นหัวหน้าต้องพิจารณาให้ตรงกับความรู้ ความสามารถ รวมทั้งวัยวุฒิที่เหมาะสมของแต่ละคน งานนั้นจึงจะดำเนินไปด้วยดีเพราะผู้ทำงานมีความสบายใจ มีความมั่นใจในการทำงานนั้น ๆ มากขึ้น
(รศ.กรรณิการ์ วิมลเกษม)