ภาษิตว่าด้วยการทำไร่ทำนา
อาชีพหลักของคนไทยตั้งแต่โบราณคือการทำนา เพราะข้าวคืออาหาร หลัก มีคำกล่าวว่า
สุขเพื่อมีข้าวกิน สุขเพื่อมีแผ่นดินอยู่ [สุกเปื้อมีเข้ากิ๋น สุกเปื้อมีแผ่นดินอยู่]
เพื่อ [เปื้อ] แปลว่า เพราะ
แสดงให้เห็นว่าความสุขพื้นฐานของชีวิตคือมีข้าวไว้บริโภคอย่างเพียงพอ และมีแผ่นดินให้อาศัยอยู่อย่างเป็นอิสระ ตราบใดที่มีน้ำมีดิน บ้านเมืองย่อมมีความอุดมสมบูรณ์ ดังภาษิตอีกบทหนึ่งว่า เงินอยู่ในน้ำ คำอยู่ในดิน
คำ ในที่นี้หมายถึง ทองคำ
คนล้านนาเห็นว่าไร่นาเป็นทรัพย์สินที่ใช้ไม่มีวันหมดสิ้น ใครที่ ไร่บ่มีสักวา นาบ่มีสักแว่น [ไฮ่บ่มีสักวา นาบ่มีสักแหว้น] หมายถึง ไร่ไม่มีสักวา นาไม่มีแม้แต่แปลงเล็ก ๆ สักแปลงเดียว ถือว่าเป็นคนยากจน
แว่น [แหว้น] เป็นลักษณนามใช้กับสิ่งที่มีลักษณะเป็นแผ่นกลม และแบน ในที่นี้ใช้เปรียบเทียบว่ามีพื้นที่เพียงเล็กน้อย การมีนาเป็นของตัวเองแม้เป็นเพียงพื้นที่เล็กน้อยย่อมดีกว่าไปค้าขาย ดังมีภาษิตว่า
สิบเรือค้า บ่เท่านาแว่นเดียว [สิบเฮือก๊า บ่เต้านาแหว้นเดียว] หรือ สิบเรือค้า บ่เท่านาพันเดียว [สิ้บเฮือก๊า บ่เต้านาปั้นเดียว] เพราะการค้าย่อมมีความเสี่ยงสูงต่อการขาดทุน ไม่เหมือนการทำนา ถึงอย่างไรก็ยังได้ข้าวกิน
พัน [ปั้น] ตรงกับคำว่า แปลง ในภาษาไทยกรุงเทพ เป็นลักษณนามใช้กับที่นา นอกจากนี้ยังสั่งสอนลูกหลานว่าหากขยันทำไร่ทำนาก็ร่ำรวยได้ ดังภาษิตว่า
คันใคร่มูลทุ่นเท้า หื้อหมั่นเยียะไร่เยียะนา [กันไค่ม่วนตุ้นเต๋า หื้อหมั่นเญียะไฮ่เญียะนา] หมายถึง ถ้าอยากมีฐานะดีเพิ่มขึ้น ให้หมั่นทำไร่ทำนา
มูล แปลว่า เพิ่มพูน, สะสม
ทุ่นเท้า [ตุ้นเต๊า] แปลว่า มากมาย, สมบูรณ์, บางที่ใช้ว่า ทูนเท้า [ตูนเต๋า]
อย่างไรก็ตาม การทำนาเป็นงานหนักและต้องคอยเอาใจใส่ดูแลทุกขั้นตอนตั้งแต่เตรียมขุดลอกเหมือง ซ่อมแซมฝายกั้นน้ำ ไถคราดเตรียมดิน การปลูก การเก็บเกี่ยว จนกระทั่งขนข้าวขึ้นยุ้ง ดังนั้นสมาชิกในครอบครัวจึงต้องช่วยกัน แม้แต่ผู้หญิงซึ่งมีงานบ้านหนักอยู่แล้ว พอถึงหน้านาก็ต้องออกมาช่วย หากหลบซ่อนตัวอยู่แต่ในบ้านก็จะถูกตำหนิว่าเป็นผู้หญิงที่ประพฤติตัวไม่สมควร ดังมีคำกล่าวว่า
ท่านไปนามันพ้อยซ่อนอยู่บ้าน ญิงผู้นั้นบ่ดี [ต้านไปนามันป๊อยซ่อนอยู่บ้าน ญิงผู้นั้นบ่อดี] แปลว่า คนอื่นไปทำนาแต่กลับหลบตัวอยู่บ้าน
หญิงผู้นั้นไม่ดี
พ้อย [ป๊อย] เป็นคำเชื่อม แปลว่า กลับ, ไฉน, ทำไม
เมื่อถึงฤดูทำนาควรรีบเร่งลงมือทำ จะได้ไม่มีอุปสรรคใดๆ ถ้าทำล่าช้า จะไม่ได้ผลดี เพราะกล้าข้าวจะแคระแกร็นน่าเสียดาย ดังคำกล่าวว่า
เยียะไร่นาปี เช้า ๆ แควนดี บ่มีที่ข้อง หล้า ๆ ขวาย ๆ เสียดายกล้าปล้อง บ่ห่อนจักดี เนอน้อง [เญี่ยะไฮ่นาปี้ เจ๊าเจ๊าแควนดี บ่อมีตี้ข้อง หล้าหล้า ขวายขวาย เสียดายก้าป้อง บ่อห่อนจั๊กดี เนอน้อง] แปลว่า ทำไร่และทำนาปี สมควรทำแต่ต้นฤดู จะได้ไม่มีอุปสรรค ถ้าทำล่าช้า เสียดายต้นกล้า มันจะเสียหายนะน้อง
เช้า ๆ (เจ้าเจ๊า) แปลว่า แต่เนิ่น ๆ
ข้อง แปลว่า ขัดข้อง, สะดุด, มีอุปสรรค
หล้า แปลว่า ล่าช้า, ทีหลัง
ขวาย แปลว่า สาย
แควนดี แปลว่า ยิ่งดี, ดีกว่า, สมควร
กล้าปล้อง [ก้าป้อง] แปลว่า ท่อนกล้า ในที่นี้หมายถึง ต้นกล้า
เนอน้อง แปลว่า นะน้อง
ถ้าโอ้เอ้ล่าช้าก็มีภาษิตว่า
โบราณว่าไว้ เยียะไร่นาขวาย ช่างเสียแรงควาย บ่มุนมั่งข้าว [โบลานว่าไว้ เญี๊ยะไฮ่นาขวาย จ้างเสียแฮงควาย บ่อมูนมั่งเข้า] แปลว่า โบราณกล่าวไว้ว่า ทำนาทำไร่ล่าช้า จะเสียแรงควายไปเปล่า ๆ เพราะจะทำนาไม่ได้ผลดี ได้ผลผลิตข้าวน้อยไม่คุ้มกับที่ลงทุนลงแรงไป
ในการหว่านกล้า มีภาษิตไว้ว่า
จักตีกลองหื้อผ่อดูเมื่อ จักปลูกข้าวเชื้อหื้อผ่อดูยาม [จั๊กตี้ก๋องหื้อผ่อดูเมื่อ จักปูกเข้าเจื้อหื้อผ่อดูญาม] แปลว่า จะตีกลองให้ดูเวลา จะหว่านพันธุ์ข้าวให้ดูเวลาหรือฤกษ์ยามที่เหมาะสม
ผ่อ แปลว่า ดู
เมื่อ แปลว่า เวลา, ฤกษ์ยาม
ผ่อเมื่อ หรือ ดูเมื่อ หมายถึง ดูตำราโหราศาสตร์ หรือปรึกษาหมอดู
ข้าวเชื้อ (เข้าเจื้อ) แปลว่า ข้าวเปลือกที่เก็บไว้ทำพันธุ์
นอกจากนี้ยังต้องรู้จักคำนวณปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่จะนำไปหว่านด้วย มีภาษิตว่า
หว่านกล้าไว้เหลือนา คือหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้ได้ต้นกล้าเกินกว่าเนื้อที่นา เพื่อเผื่อไว้สำหรับเมล็ดข้าวที่ไม่งอกหรือปลูก ซ่อมต้นข้าวที่อาจถูกแมลงหรือสัตว์อื่นรบกวนทำให้เสียหาย ดังมีภาษิตว่า
หว่านกล้าช่างตกตม ปูลมช่างหนีบข้าว แปลว่า หว่านเมล็ดข้าวมักจะตกลงไปในโคลนตมนอกแปลง ไม่งอกเป็นต้นกล้า ปูลมมักจะหนีบต้นข้าวให้เสียหาย
ช่าง [จ้าง] ในบทนี้แปลว่า มักจะ นอกจากนี้ยังเผื่อสำหรับเพื่อนบ้าน ที่มีต้นกล้าไม่พอปลูก จะได้ให้เขาเอาข้าวเชื้อพันธุ์มาแลก ชาวนาต้องชำนาญ ในการหว่านกล้าด้วย ดังภาษิตว่า
เยียะไร่ช่างหว่านงา เยียะนาช่างหว่านกล้า [เญี่ยะไฮ่จ้างหว่านงา เญี่ยะนาจ้างหว่านก้า] แปลว่า ทำไร่ต้องชำนาญการหว่านเมล็ดงา ทำนาต้อง ชำนาญการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว ชาวนาต้องรู้จักวิธีการหว่าน เพื่อให้เมล็ด พันธุ์ข้าวกระจายไปทั่ว ไม่กระจุกอยู่ที่ใดที่หนึ่ง จะทำให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรง
ช่าง [จ้าง] ในบทนี้แปลว่า ชำนาญ, ทำเป็น
เมื่อดำนาแล้ว ต้นข้าวเจริญงอกงามก็ต้องหมั่นไปดูแล ดังภาษิตที่ว่า
ใคร่กินข้าว หื้อหมั่นใชท่งใชนา [ไค่กิ้นเข้า หื้อหมั่นใจตังไจนา]
แปลว่า อยากกินข้าว ให้หมั่นไปดูแลทุ่งนา
ใช [ไจ] แปลว่าไปเยี่ยม, ไปดูแล แต่ไม่ควรพาเด็กและสุนัขไปทุ่งนา ด้วย ดังภาษิตว่า
ละอ่อนบ่ดีเอาไปนา หมาบ่ดีเอาไปท่ง [ละอ่อนบ่อดีเอาไปนา หมาบ่อดีเอาไปตั้ง] เพราะความซุกซน จะไปเหยียบย่ำ ถกถอน ทำให้ต้นข้าว เสียหาย
ท่ง [ต้ง] แปลว่า ทุ่ง, ทุ่งนา
ระหว่างการทำนาก็ต้องหมั่นไปดูเหมืองฝายว่าชำรุดหรือมีสิ่งกีดขวาง ทางน้ำบ้างหรือไม่ จะได้ซ่อมแซมขุดลอก เพราะ บ่มีเหมืองฝาย ข้าวช่าง ตายแดด [บ่อมีเหมืองฝาย เข้าจ้างต้ายแดด] แปลว่า ไม่มีเหมืองฝาย ไม่มี น้ำ ข้าวมักจะตายเพราะแดดเผา
เหมืองฝายสำคัญมากสำหรับการทำนา การผันน้ำเข้านาจึงต้องทำ เป็นระบบและมีความเป็นธรรม โดยกลุ่มชาวนาต้องถือกติกาในการใช้น้ำ ตามที่ได้จัดสรร ตกลงกันอย่างเคร่งครัด ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนถ่ายเดียว เช่น มีภาษิตสอนไม่ให้ จกท้างบ่องแท [จักต้างบ่องแต] คือ ไปเจาะทำนบหรือทาง ระบายน้ำ เพื่อให้น้ำไหลเข้านาตัวเองเท่านั้น
จก [จัก] แปลว่า ควัก, ล้วง, ขุด
บ่อง แปลว่า เจาะให้เป็นรู เป็นช่อง
แท [แต] แปลว่า ทำนบกั้นน้ำในเหมืองหรือคลองส่งน้ำที่แยกจาก ฝายหรือเขื่อนก่อนที่จะไปสู่ท้าง
ท้าง [ต้าง] แปลว่า ช่องทางระบายน้ำเข้าหรือออกจากนาหรือ สวน นอกจากนั้นยังต้องช่วยกันรักษาความสะอาดของเหมืองฝายหรือแม่น้ำ ด้วย อย่าทำให้มีสิ่งปฏิกูลลงไปในน้ำ ดังภาษิตที่ว่า
บ่ดีสิหมาเน่าลงฝาย บ่ดีสิหมาตายลงแม่น้ำ [บ่อดีสิหมาเน่า ลงฝาย บ่อดีสิหมาตายลงแม่น้ำ] คือไม่ควรเอาไม้เขี่ยหมาเน่าหรือหมาตาย ลงฝายหรือแม่น้ำ
บ่ดี แปลว่า ไม่ควร
สิ [สิ่] แปลว่า เอาไม้สอยหรือเอาไม้เขี่ย
การที่คนล้านนาทำนามาตลอดหลายชั่วคน จึงมีข้อสังเกตจาก ประสบการณ์ที่สามารถนำมาเปรียบเทียบเป็นภาษิตคำสอน ดังตัวอย่างเช่น
เยียะนาหล้าเสียแรงควาย มีเมียขวายเป็นข้าลูก [เญี่ยะนาหล้า เสียแฮงควาย มีเมียขวายเป็นข้าลูก] แปลว่า ทำนาล่าช้าเสียแรงควาย มีเมีย ช้าเป็นขี้ข้าลูก หมายถึงการตัดสินใจช้าทำให้เสียโอกาสดี ๆ ไป เช่นการมีภรรยา ช้า ก็จะต้องลำบากเลี้ยงลูกยามแก่
เยียะนา [เญี่ยะนา] แปลว่า ทำนา
ซื้อควายยามนา ซื้อคายามฝน [ซื้อควายญามนา ซื้อคาญามฝน] หรือ ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว [ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว] แปลว่า ซื้อควายในฤดูทำนา ซื้อหญ้าคาในฤดูฝน หรือซื้อควายในฤดูทำนา ซื้อผ้าในฤดูหนาว เป็นการสอนให้เตรียมการแต่เนิ่น ๆ หรือทำกิจการให้ถูก กาลเทศะ
ภาษิตว่า นาดีใผบ่ละเป็นร้าง [นาดีไผบ่อละเป็นฮ้าง] แปลว่า ที่นาดีไม่มีใครปล่อยทิ้งร้าง ใช้เปรียบกับผู้หญิงดี สามีย่อมไม่ทิ้งไปให้เป็น แม่ร้าง
ไปไถนาลืมควาย [ไปไถนาลืมควาย] แปลว่า เวลาไปไถนากลับลืม เอาควายไปด้วย หมายถึง หลงลืมสิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องนั้น ๆ เป็นการเตือน ให้มีสติอยู่เสมอ เอาใจใส่งานของตน
ชาติว่าน้ำบ่หล้างเขียมปลา ชาติว่านาบ่หลอนไร้ข้าว [จาติ๋ว่า น้ำบ่อหล้างเขียมป่า จาติ๋ว่านาบ่อหลอนไฮ้เข้า] แปลว่า ธรรมชาติของน้ำย่อม ไม่ขาดปลา ธรรมชาติของนาย่อมไม่ไร้ข้าว หมายความว่า ถ้าขยันก็ไม่หมด หนทางหากิน เพราะในน้ำย่อมมีปลา ในนาย่อมมีข้าว
ชาติ [จาติ๋] แปลว่า ปรกติ, ธรรมชาติ
หล้าง แปลว่า คงจะ, น่าจะ
เขียม แปลว่า หายาก
หลอน แปลว่า น่าจะ, อาจจะ
ข้าวบ่ตากตำปึก คนหลึกสอนยาก [ข้าวบ่ตากตำปึก คนหลึก สอนยาก] แปลว่า ข้าวที่ไม่ได้ตากจะตำยาก คนโง่หรือดื้อรั้นมักสอนยาก ภาษิตนี้ เปรียบคนที่สอนยากเหมือนข้าวที่ตากไม่แห้งจะตำลำบาก
ปึก [ปึก] แปลว่า ฝืด, ไม่คล่อง, ไม่ฉลาด
หลึก [หลึก] แปลว่า โง่, ทึ่ม, ดื้อรั้น
เยียะไร่ไกลตา เยียะนาไกลบ้าน [เญี่ยะไฮไก่ต่ำ เญี่ยะนาไก่บ้าน] ภาษิตนี้หมายความว่า ไม่ควรทำไร่ทำนาอยู่ไกลบ้าน เพราะจะไม่สามารถดูแล ได้อย่างเต็มที่ อาจถูกสัตว์อื่นมาทำลายให้เสียหายและได้ผลผลิตน้อย ใช้ เปรียบเทียบกับการมีคนรักไม่ควรอยู่ห่างไกลกัน เพราะจะดูแลซึ่งกันและกัน ได้ไม่เต็มที่ ทำให้ความรักจืดจางหรือมีคนอื่นมาข้องแวะ และทำให้คนรัก เปลี่ยนใจได้
คนล้านนาเชื่อมั่นว่าหากคนรู้จักทำนาจนสันทัดจัดเจนแล้วจะทำให้ บ้านเมืองมั่นคงเป็นปึกแผ่น เพราะประชาชนจะไม่อดอยาก มีอาหารเพียงพอ สำหรับบริโภค ดังภาษิตที่สอนสืบกันมาว่า
เอากันเป็นนา พากันเป็นบ้านเป็นเมือง [เอากั้นเป็นนา ปากั้น เป็นบ้านเป็นเมือง] แปลว่า ช่วยกันบุกเบิกที่ดินให้เป็นนา และช่วยกันสร้างบ้าน แปลงเมือง อีกประการหนึ่ง เกษตรกรต้องคิดไกลไปถึงอนาคตว่าจะหาวิธีการ อย่างไรจึงจะทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ในขณะที่พ่อค้ากลับคำนึงถึงต้นทุน ที่ได้ลงทุนไปแล้ว ดังภาษิตว่า
พ่อนาคึดไปหน้า พ่อค้าคึดไปหลัง [ป้อนากิ๊ดไปหน้า ป้อก๊ากี๊ด ไปหลัง] แปลว่า ชาวนาคิดไปถึงภายหน้า พ่อค้าคิดย้อนหลัง
(รศ.เรณู วิชาศิลป์)