ภาษิตว่าด้วยการทำงาน

ภาษิตที่สอนในเรื่องการทำงานของล้านนามีหลายบท โดยมากจะสอน ให้คนรู้จักทำงานหรือการทำสิ่งใดด้วยความมานะอดทน ขยันขันแข็ง เต็ม กำลังสติปัญญา เอาชนะอุปสรรคจนประสบผลสำเร็จ เช่น

กินแล้วนอน ผีปันพรวันละเจ็ดเทื่อ กินแล้วเยียะการ พาลูกหลานเป็นเจ้าเป็นนาย [กินแล้วนอน ผีปั้นปอนวันละเจ็ดเตื้อ กิ่นแล้วเญียะก้าน ปาลูกหลานเป็นเจ้าเป็นนาย] แปลว่า กินแล้วนอนผีให้พรวันละเจ็ดครั้ง กินแล้ว ทำงานทำให้ลูกหลานได้เป็นเจ้าคนนายคน หมายความว่า คนที่ขี้เกียจไม่ทำการ ทำงาน เอาแต่กินแล้วก็นอน จะต้องตกต่ำ ไม่มีความสุขความเจริญ เหมือน ได้รับพรจากผี (ผีสาปแช่ง) ถึงวันละ ๗ ครั้ง ดังนั้น คนเราไม่ควรจะขี้เกียจ ต้องรู้จักทำงานสร้างฐานะให้มั่นคงเพื่อตนเองจะได้มีชีวิตที่มั่นคง มีความสุข และยังจะนำพาให้ลูกหลานมีอนาคตที่ดีได้เป็นเจ้าเป็นนายคนอีกด้วย ภาษิตนี้ บางครั้งอาจพูดสั้น ๆ เพียง ๒ วรรคแรก คือ กินแล้วนอน ผีปันพรวันละ เจ็ดเทื่อ [กิ่นแล้วนอน ผีปั้นปอนวันละเจ็ดเตื้อ] ก็ได้

ปัน แปลว่า แบ่งปัน ออกเสียงวรรณยุกต์จัตวาว่า ปั่น

พร ออกเสียงว่า ปอน คำที่ภาคกลางขึ้นต้นด้วยอักษร พ จะ เปลี่ยนเป็นเสียง ป ในภาษาไทยถิ่นเหนือ ดังนั้น คำว่า ปันพร จึงออกเสียง เป็น ปั่นปอน หมายถึง อวยพร เช่น ตอนปีใหม่เมืองแม่อุ๊ยปันพรหื้อ ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข [ต้อนปี้ใหม่เมืองแม่อุ๊ยปั้นปอนหื้อลูกหลานอยู่เย็น เป็นสุข] แปลว่า ตอนสงกรานต์คุณยายให้พรแก่ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข

แต่ในที่นี้ คำว่า ผีปันพร [ผีปั้นปอน] น่าจะเป็นการประชด คำว่า ผีปันพร [ผีปั่นปอน] จึงน่าจะหมายถึง ผีสาปแช่งหรือให้สิ่งที่ไม่ดี

เทื่อ [เตื้อ] หมายถึง ครั้ง

เยียะการ [เญี๊ยะก้าน] หมายถึง ทำงาน

มีภาษิตอีกบทหนึ่งที่มีความหมายใกล้เคียงกันว่า กินข้าวแล้วบ่เยียะการ พาลูกหลานเป็นหนี้เป็นข้า [กิ่นเข้าแล้วบ่อเญียะก้าน ปาลูกหลานเป่นหนี้เป็นข้า] แปลว่า กินข้าวแล้วไม่ทำงาน พาให้ลูกหลานเป็นหนี้หรือเป็นข้า ของผู้อื่น ภาษิตบทนี้มีใจความค่อนข้างจะตรงไปตรงมาว่า ถ้ากินข้าวอิ่มแล้ว ไม่ทำการทำงานสร้างฐานะให้มั่นคง ก็จะทำให้ลูกหลานต้องลำบากยากจน เป็นหนี้เป็นสินผู้อื่น หรืออาจสร้างหนี้สินไว้ให้เป็นภาระของลูกหลานก็ได้ จึงเป็นคำสอนที่ให้คนขยันหมั่นเพียรทำมาหากินนั่นเอง

ภาษิตบทต่อไปคือ

เกิดมาเป็นคน เข้าห้วยใดหื้อมันสุด ขุดห้วยใดหื้อมันทึก [เกิดมา เป็นคน เข้าห้วยใดหื้อมันสุด ขุดห้วยใดหื้อมันทึก] แปลว่า เกิดเป็นคนเข้าไป ในลำห้วยใดก็ให้ไปจนสุด จะขุดลำห้วยใดก็ให้ถึงก้นลำห้วย คำสอนนี้เป็น ความเปรียบหมายถึง คนเราเมื่อจะทำสิ่งใดก็ให้ทำอย่างจริงจัง ทำให้ถึงที่สุด เพื่อจะได้ประสบผลสำเร็จ คำสอนนี้สะท้อนภาพวิถีชีวิตการทำมาหากินของ คนล้านนาที่ต้องพึ่งพาตนเอง ต้องไปหาปู ปลา ตามลำห้วยมาทำเป็นอาหาร รับประทาน สัตว์บางอย่างอาจอยู่ตอนเหนือของลำห้วยก็จะต้องไปให้ถึง หรืออยู่ในรูก็ต้องขุดให้ถึงพื้นจึงจะได้ตามต้องการ หรือหมายถึง การดูแล ลำห้วยต้องดูแลให้ตลอดลำห้วย ไม่ให้ตื้นเขิน ให้มีน้ำไหลโดยตลอด จะได้ นำมาใช้ประโยชน์ได้

หื้อ คือ ให้

ทึก [ทึก] หมายถึง สุด, สุดทาง, ถึง

ภาษิตบทต่อไปที่มีความหมายเหมือนกัน คือ

ดำน้ำหื้อถึงทราย นอนหงายหื้อหันฟ้า (ดำน้ำหื้อถึงทราย นอนหงาย หื้อหันฟ้า] แปลว่า ดำน้ำให้ถึงทราย นอนหงายให้เห็นฟ้า หมายถึง การจะทำ อะไรก็ให้ทำอย่างจริงจังหรือต้องพยายามทำให้ถึงที่สุด จึงจะประสบความ สำเร็จ

(รศ.กรรณิการ์ วิมลเกษม)