ภาษิตว่าด้วยการศึกษาหาความรู้
คนล้านนามีความเชื่อว่าทุกคนมีสมอง มีสติปัญญาอยู่ในตัว แต่สิ่งที่ทำ ให้แตกต่างกันก็คือความรู้ที่มาเรียนรู้ได้ในภายหลัง ดังภาษิตที่ว่า
ความหลวักมีชูผู้ ความรู้ซ้ำต่างกัน [ความหลวักมีจุ๊ผู้ ความรู้ซ้ำ ต่างกั้น] แปลว่า ความฉลาดมีกันทุกคน แต่ความรู้ย่อมต่างกัน
ความหลวัก [ความหลวัก] แปลว่า ความฉลาด
หลวัก ตรงกับภาษาไทยกรุงเทพว่า หลัก อย่างในคำซ้อนว่า ฉลาดหลักแหลม
ชูผู้ โจ๊ผู้ แปลว่า ทุกคน
ถ้าหากใครมีการศึกษาเล่าเรียนน้อยก็จะทำให้ไม่รู้เท่าทันผู้อื่นและมี โลกทัศน์คับแคบ ดังภาษิตที่ว่า ความรู้บ่ทัน ความหันบ่กว้าง [ความรู้บ่อตัน ความหันบ่อกว้าง]
บ่ทัน [บ่อตัน] แปลว่า ไม่ทันหรือไม่เท่าทัน
ความหัน แปลว่า ความเห็นหรือความคิดเห็น
ดังนั้นผู้ที่รู้ตัวว่าความรู้ของตัวเองยังไม่กว้างขวางก็จะต้องปฏิบัติตาม ภาษิตที่ว่า
ถามนักได้ปัญญา นั่งผ่อหน้าได้ค่ากันด้าน [ถามนักได้ปั้นญา นั่งผ่อ หน้าได้ก้าก้นด้าน] แปลว่า ถามมากได้ปัญญา นั่งมองหน้าได้แค่ก้นด้าน เป็น การสอนให้รู้จักซักถามครูบาอาจารย์หรือผู้รู้ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนปัญญา แต่ ถ้าหากอยู่ใกล้บุคคลเหล่านี้แล้วไม่รู้จักถาม ก็เปล่าประโยชน์
ได้ค่า (ได้ก้า) แปลว่า ได้แต่, ได้แค่
เมื่อตระหนักว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญแล้ว คนล้านนาจึงสั่งสอนให้ กุลบุตรกุลธิดาของตนได้ใฝ่หาความรู้อยู่เป็นนิจ ดังมีภาษิตบทหนึ่งว่า
เสียมบ่คมหื้อใส่ด้ามหนัก ๆ คำรู้บ่นักหื้อหมั่นร่ำหมั่นเรียน [เสียมบ่อคมหื้อใส่ด้ามหนักหนัก กำรู้บ่อนักหื้อหมั่นฮ่ำหมั่นเฮียน] แปลว่า เสียมไม่คมให้ใส่ด้ามหนัก ๆ ความรู้ไม่มากให้หมั่นร่ำหมั่นเรียน ภาษิตนี้เปรียบ เสียมที่ไม่คมเวลาจะใช้ขุดดินก็ต้องใส่ด้ามให้หนัก ๆ เพื่อให้มีแรงส่ง เหมือน คนที่มีความรู้น้อย ก็ต้องขยันหมั่นเพียรร่ำเรียนให้เป็นคนที่มีความรู้มากยิ่งขึ้น
ภาษิตอีกบทหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าคนล้านนาให้ความสำคัญกับการมี ความรู้อย่างลึกซึ้ง คือภาษิตที่ว่า
เก้าเหลี่ยมสิบเหลี่ยม บ่เท่าเหลี่ยมใบคา เก้าหนาสิบหนา บ่เท่าหนาความรู้ [เก้าเหลี่ยมสิบเหลี่ยม บ่อเต้าเหลี่ยมไบคา เก้าหนาสิบหนา บ่อเต้าหนาความรู้! แปลว่า เก้าแหลมสิบแหลมไม่เท่ากับความแหลมของ ใบหญ้าคา เก้าหนาสิบหนาไม่เท่าหนาความรู้
เหลี่ยม แปลว่า แหลม
นอกจากนี้คนล้านนายังมองเห็นคุณค่าของความรู้ ดังภาษิตที่ว่า
ความรู้มีไว้บ่วายหายสูญ เที่ยงจักเป็นคุณ สืบไปภายหน้า [ความรู้ มีไว้บ่อวายหายสูน เตี้ยงจักเป็นกุน สืบไปปายหน้า] แปลว่า ความรู้ไม่มีวัน สูญหายไปไหน ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองต่อไปในภายภาคหน้า
วาย แปลว่า หมดสิ้นไป
เที่ยง [เตี้ยง] แปลว่า ย่อม
คนล้านนาถือว่าการศึกษาเป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จ คนที่มีการศึกษา สูงย่อมจะมีโอกาสที่ดีกว่าคนมีการศึกษาน้อย ดังมีภาษิตที่ว่า
ใคร่เป็นข้าหื้ออยู่ดาย ใคร่เป็นเจ้าเป็นนายหื้อหมั่นร่ำหมั่นเรียน [ไค่เป็นข้าหื้ออยู่ดาย ไค่เป็นเจ้าเป็นนายหื้อหมั่นฮ่ำหมั่นเฮียน] แปลว่า อยากเป็น ขี้ข้าให้อยู่เฉย ๆ ถ้าอยากเป็นเจ้าคนนายคนให้ขยันหมั่นเรียน
อยู่ดาย แปลว่า อยู่เฉย ๆ
ภาษิตอีกบทหนึ่งก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า
ใคร่เป็นเจ้าหื้อหมั่นเรียนคุณ ใคร่เป็นขุนหื้อหมั่นเฝ้าเจ้า [ไค่เป็น เจ้าหื้อหมั่นเฮียนกุน ไค่เป็นขุนหื้อหมั่นเฝ้าเจ้า] แปลว่า ถ้าหากอยากเป็นเจ้าคน นายคนก็ให้หมั่นเรียนศิลปวิทยาการ ถ้าหากอยากเป็นขุนนาง คือ ข้าราชการ ชั้นผู้ใหญ่ ก็ให้เข้าเฝ้าเจ้านายบ่อย ๆ
คุณ [กุน] ในที่นี้หมายถึง ศิลปวิทยาการ ความรู้พิเศษ หรือคาถา อาคม
การศึกษาในสมัยก่อนลูกศิษย์ก็มักจะแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียง ตามสำนักต่าง ๆ ทั้งที่เป็นพระสงฆ์และเป็นฆราวาส จนมีสำนวนที่ว่า
ศิษย์ต่างครู อาจารย์ต่างวัด หนังสือก้อมต่างคนต่างมี [สิดต่างคู อาจ้านต่างวัด หนังสือก้อมต่างคนต่างมี] แปลว่า ศิษย์ต่างครูกัน พระอาจารย์ คนละวัด ต่างคนก็ต่างมีตำราเป็นของตนเอง หมายความว่า ให้รู้จักยอมรับ ความหลากหลายของความรู้ ไม่ให้ลบหลู่ดูหมิ่นครูบาอาจารย์ตลอดจนวิชา ของสำนักอื่น
หนังสือก้อม หมายถึง ใบลานหรือพับสาขนาดสั้น โดยมากมัก เป็นตำราส่วนตัวของอาจารย์แต่ละคน
ก้อม แปลว่า สั้น
สำหรับครูบาอาจารย์ที่เป็นฆราวาสนั้น ลูกศิษย์มักจะไปพักอาศัยและ รับใช้ครูบาอาจารย์อยู่ที่บ้านของท่าน เพราะในอดีตการเดินทางไปกลับไม่ สะดวก ครูจึงเป็นเสมือนพ่อแม่คนที่สองของศิษย์ ลูกศิษย์จึงเรียกท่านว่า พ่อครู [ป้อคู] หรือ แม่ครู [แม่คู] ด้วยเหตุนี้ครูจึงเป็นบุคคลสำคัญผู้หนึ่งใน ชีวิตของแต่ละคน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามจะต้องมีครูคอยสอนสั่งทั้งนั้น ดังภาษิตว่า
จี่พริกต้องมีครู จี่ปูต้องมีลาย [จี่พิกต้องมีคู จี่ปู่ต้องมีลาย] แปลว่า จี่พริกต้องมีครูสอน จี่ปูต้องมีชั้นเชิงหรือเทคนิค
จี่ แปลว่า เผา
ลาย แปลว่า ลวดลาย ชั้นเชิง หรือเทคนิค
ภาษิตนี้ให้ข้อคิดว่าแม้การประกอบอาหารที่แสนจะง่ายอย่างการจี่พริก หรือจี่ปูก็จะต้องมีครูสอนเทคนิควิธีให้ เพราะไม่เช่นนั้นพริกหรือปูก็จะไหม้ ใช้ทำอาหารไม่ได้ และมีภาษิตอีกบทหนึ่งที่สอนให้เห็นความสำคัญของครูว่า
อันใดบ่แจ้งเร่งหาครู บุญหลังชูจักช่วย [อันไดบ่อแจ้งเฮ่งหาคู บุญหลังจูจักจ้วย] แปลว่า หากมีสิ่งใดไม่กระจ่างหรือยังรู้ไม่ชัดเจน ให้รีบ ไปแสวงหาความรู้นั้น ๆ จากครู บุญแต่ปางหลังจะมาช่วยค้ำชูให้ได้พบครูบา อาจารย์หรือให้ได้ความรู้
บ่แจ้ง แปลว่า ไม่กระจ่างแจ้ง
เร่ง [เฮ่ง] แปลว่า รีบ
ชู [จู] แปลว่า มาหา, ค้ำชู
(นายยุทธพร นาคสุข)