ภาษิตว่าด้วยหน้าที่ของสามีภรรยา

ภาษิตล้านนาที่มีเนื้อความว่าด้วยสามีภรรยามีอยู่หลายบท สามีภรรยา ที่ต่างก็รักกันอย่างแน่นแฟ้นนั้น คนล้านนาเรียกว่าเป็น ผัวรักเมียแพง [ผัวฮักเมียแปง]

แพง [แปง] ในภาษาไทยถิ่นเหนือและภาษาชนชาติไทหลายกลุ่ม นอกจากแปลว่ามีราคาสูงแล้ว ยังแปลว่า รัก ได้ด้วย ผัวรักเมียแพง ตรงกับ ผัวรักเมียรัก นั่นเอง สามีและภรรยาที่เป็นคนดีทั้งคู่ คนล้านนาเปรียบเทียบว่าเป็น ผัวแก้ว เมียแสง

แสง แปลว่า แก้ว ผัวแก้วเมียแสง ตรงกับ ผัวแก้วเมียแก้ว หมายถึง ทั้งสามีและภรรยาต่างก็เป็นคนดีมาก ถือว่าเป็นคนที่มีคุณค่าประหนึ่งแก้ว แก้ว ในที่นี้หมายถึงหินที่จัดว่าเป็นรัตนชาติเพราะหายากและราคาแพง เช่น เพชร ทับทิม มรกต จึงมีผู้นิยมนำมาใช้เปรียบเทียบกับสิ่งที่ดีมีคุณค่ามาก นอกจาก นี้ยังมีการเปรียบเทียบสามีภรรยาที่เป็นคนดีทั้งคู่ว่า ผัวแก้วเมียเทพ [ผัวแก้ว เมียเต้บ]

ส่วนสามีภรรยาที่เป็นคนไม่ดีทั้งคู่นั้น คนล้านนาเปรียบเทียบว่าเป็น ผัวเปรตเมียผี [ผัวเผดเมียผี] หรือ ผัวเปรตเมียยักษ์ [ผัวเผดเมียญัก] ภาษิตนี้ เป็นการเปรียบเทียบว่าผัวเลวประหนึ่งเปรตและเมียก็เลวประหนึ่งผีหรือยักษ์ คือเลวที่สุดทั้งสองคน

ในวันแต่งงานตามประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มา อวยพรและอาจารย์หรือปู่อาจารย์ผู้ทำหน้าที่เรียกขวัญมักกล่าวเตือนให้คู่สมรส เป็น ผัวรักเมียแพง คือ ให้ทะนุถนอมน้ำใจกัน มีความรักกันอย่างมั่นคง และ ให้เป็น ผัวแก้วเมียแสง คือ ประพฤติตนเป็นคนดีทั้งคู่ อย่าเป็นคนเลวอย่าง ที่เรียกว่า ผัวเปรตเมียผี ภาษิตล้านนาที่สอนเรื่องบทบาทหน้าที่ของชายหญิงหรือสามีภรรยา เช่น

พ่อชายลุกเข้าผ่อสี่แจ่งบ้าน แม่ญิงลุกเช้าผ่อสี่แจ่งเรือน [ป้อจาย ลุกเจ้าผ่อสี่แจ่งบ้าน แม่ญิงลุกเจ้าผ่อสี่แจ่งเฮือน]

พ่อชาย [ป้อจาย] และ แม่ญิง ในภาษาไทยถิ่นเหนือ มีความหมาย ตรงกับ ผู้ชายและผู้หญิง ในภาษาไทยกรุงเทพ

ลุก แปลว่า ตื่นนอน

ผ่อ แปลว่า ดู หรือ ดูแล

แจ่ง แปลว่า มุม

พ่อชายลุกเช้าผ่อสี่แจ่งบ้าน แปลว่า ผู้ชายหรือสามีตื่นเช้าดูแล สี่มุมบ้าน คือ ดูแลบริเวณบ้านหรือรอบ ๆ บ้าน

แม่ญิงลุกเช้าผ่อสี่แจ่งเรือน แปลว่า ผู้หญิงหรือภรรยาตื่นเช้า ดูแลสี่มุมเรือน คือ ดูแลพื้นที่บนเรือน หมายความว่า หน้าที่การดูแลการงาน บนบ้านเช่นการทำความสะอาดและทำอาหารเป็นหน้าที่ของสตรีหรือภรรยา ส่วนผู้ชายหรือสามีมีหน้าที่ดูแลการงานบริเวณรอบบ้าน เช่น ขุดดินปลูกต้นไม้ ดูแลวัวควาย ตลอดจนซ่อมแซมรั้วให้เรียบร้อยเพื่อความปลอดภัย

ภาษิตอีกบทหนึ่งเปรียบเทียบหน้าที่ของสามีภรรยาว่า ผัวเป็นหิง เมียเป็นข้อง

หิง แปลว่า สวิง ซึ่งเป็นเครื่องช้อนจับปลา ถักเป็นร่างแห ลักษณะ เป็นถุง ใช้ไม้หรือหวายทำเป็นขอบปาก

ส่วน ข้อง ในภาษาไทยถิ่นเหนือตรงกับภาษาไทยกรุงเทพ หมายถึง เครื่องจักสานสำหรับใส่ปลา ปู กบ หรือเขียดที่จับได้

ภาษิต ผัวเป็นหิง เมียเป็นข้อง แปลเป็นภาษาไทยกรุงเทพได้ว่า ผัวเป็นสวิง เมียเป็นข้อง เป็นการเปรียบเทียบสามีเป็นสวิง คือเป็นผู้หารายได้ มาเลี้ยงครอบครัว ภรรยาก็ต้องทำหน้าที่เป็นข้องคือเก็บรักษาทรัพย์สินที่สามี หามาได้ให้ดี หรือหมายถึงทั้งสามีและภรรยาต้องช่วยกันทำมาหากิน

ภาษิตล้านนาที่สอนว่าสามีภรรยาที่ดีต้องนับถือซึ่งกันและกัน ยกย่อง ให้เกียรติกัน มีใจความว่า

ผัวบ่นับถือเมีย คำกองเท่าเรือก็บ่ค้าง เมียบ่นับถือผัว คำกองเท่าหัวก็เสี้ยง [ผัวบ่อนับถือเมีย คำก๋องเต้าเฮือก้อบ่อค้าง เมียบ่อนับถือผัว คำก๋องเต้าหัวก้อเสี้ยง]

คำ ในที่นี้แปลว่า ทองคำ

บ่ค้าง แปลว่า ไม่เหลือ

เสี้ยง แปลว่า หมดสิ้น

ภาษิตบทนี้แปลว่า สามีไม่นับถือให้เกียรติภรรยา ต่อให้มีทองกองเท่า ลำเรือก็ไม่เหลือ เช่นเดียวกับภรรยาที่ไม่นับถือให้เกียรติสามี ต่อให้มีทอง กองเท่าศีรษะก็หมด หมายความว่า ทั้งสามีและภรรยาต้องยกย่องเชิดชู ให้เกียรติกัน ให้ความนับถือซึ่งกันและกัน ร่วมกันคิดร่วมกันสร้างครอบครัว สร้างฐานะให้มั่นคง ไม่ปิดบังอำพรางกันโดยเฉพาะในเรื่องการใช้จ่าย ทั้งนี้เพราะ เมื่อไม่นับถือยกย่องให้เกียรติกัน ต่างฝ่ายก็เห็นแก่ตัว ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่ร่วมกันเก็บรักษาทรัพย์สินไว้เพื่อครอบครัว แม้มีทรัพย์สมบัติมากมาย เพียงใด ในที่สุดก็จะหมดสิ้นไปได้

อย่างไรก็ดี ภาษิตบางบทสะท้อนให้เห็นว่า ในทัศนะของคนล้านนานั้น ผู้ชายมีสถานภาพสูงกว่าผู้หญิง สตรีผู้เป็นภรรยาต้องเคารพสามี ภรรยามีหน้าที่ หุงหาอาหารให้สามีและลูกรับประทาน น่าจะเป็นเพราะคนล้านนาส่วนใหญ่ นับถือพระพุทธศาสนา และผู้ชายมักผ่านการบวชเรียนมาก่อนแต่งงาน จึง ต้องให้ความเคารพ ดังภาษิตว่า

ยามนอนอย่านอนสูงกว่าผัวเจ้า คันเมื่อลุกเช้า หื้อค่อยหย่องเทียวเรือน [ยามนอนอย่านอนสูงกว่าผัวเจ้า คันเมื่อลุกเจ้า หื้อค่อยหย่องเตียวเฮือน]

คัน [กัน] คือ ครั้น

ลุก แปลว่า ตื่นนอน

หื้อ คือ ให้

หย่อง ตรงกับคำว่า ย่อง ในภาษาไทยกรุงเทพ

เที่ยว [เตียว] แปลว่า เดิน

ยามนอนอย่านอนสูงกว่าผัวเจ้า คันเมื่อลุกเช้า หื้อค่อยหย่อง เที่ยวเรือน หมายความว่า เวลานอนภรรยาไม่ควรนอนในที่สูงกว่าสามี แม้นอน บนที่นอนเดียวกันก็ไม่นิยมวางหมอนของภรรยาสูงกว่าหมอนของสามี ต้องวาง คู่กันหรือให้หมอนของภรรยาอยู่ต่ำกว่า ภรรยาจะต้องตื่นก่อนและนอนหลัง เมื่อตื่นนอนเวลาเดินต้องค่อย ๆ ย่องไม่ให้เสียงดัง เพราะสามียังนอนอยู่

ภาษิตอีกบทหนึ่งมีว่า

ลูกผัวเป็นเจ้า นอนลุนลุกเช้า แต่งคาบข้าวงายทอน [ลูกผัวเป็นเจ้า นอนลุนลุกเจ้า แต่งคาบเข้างายตอน] ลูกผัว ในที่นี้เน้นความสำคัญที่สามี

ลุน แปลว่า ที่หลัง

คาบข้าว [คาบเข้า] แปลว่า อาหารแต่ละมื้อ

งาย หมายถึง ยามเช้า, ยามสาย

ข้าวงาย [เข้างาย] หมายถึง อาหารเช้า

ทอน [ตอน] หรือ เมื่อทอน [เมื่อตอน] หมายถึง เวลากลางวัน

ข้าวทอน [เข้าตอน] คือ อาหารกลางวัน

ภาษิตบทนี้แปลว่า สามีเป็นเจ้าเป็นนาย นอนทีหลังตื่นแต่เช้าจัดหา อาหารมื้อเช้ามื้อกลางวันให้ หมายความว่า ภรรยาจะต้องให้ความสำคัญแก่ สามีประหนึ่งเป็นเจ้าเป็นนาย ภรรยาจะต้องนอนทีหลัง ตื่นเช้าขึ้นมาก็ต้อง เตรียมอาหารแต่ละมื้อไว้ให้สามี

(ศ. ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์)