ภาษิตว่าด้วยการรู้จักประมาณตน
ภาษิตที่สอนให้รู้จักประมาณตน ได้แก่ ภาษิตที่สอนหรือเตือนสติให้ คำนึงถึงฐานะของตน โดยการกระทำสิ่งต่าง ๆ อย่างพอดี พอควร เหมาะสม กับฐานะ กำลังและความสามารถ ไม่ทำอะไรเกินตัว การรู้จักประมาณตนจะ ช่วยให้มีความสุขในการดำรงชีวิต
ภาษีตล้านนาหลายบทสอนให้รู้จักประมาณตนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต ในเรื่องต่าง ๆ คือ การกิน การอยู่ การแต่งกาย การใช้จ่ายเงินทอง และการ ทำการงาน ซึ่งมีทั้งสอนโดยตรงและสอนในเชิงเปรียบเทียบ ภาษิตที่สอนให้รู้จัก ประมาณตนเรื่องการกิน ว่า ควรกินอาหารแต่พอดี พออิ่ม ไม่กินมากจนเกินไป เช่น ภาษิตว่า
กินข้าวหื้อไว้ต่าน้ำ (กินข้าวหื้อไว้ต่าน้ำ) แปลว่า กินข้าวให้เผื่อน้ำ คือ กินข้าวให้เหลือที่ไว้ให้น้ำ หมายความว่า ควรกินอาหารแต่พอประมาณ เมื่อดื่มน้ำแล้วจะได้อิ่มพอดี ไม่ควรกินอาหารมากเกินไป การกินมากเกินพอดี จะทำให้เกิดอาการจุกเสียด แน่นท้อง อึดอัด อันส่งผลให้ระบบย่อยอาหาร ทำงานผิดปกติและเกิดการเจ็บป่วยได้
หื้อ แปลว่า ให้
ต่า แปลว่า ส่วน, ส่วนเฉพาะ, ที่
ภาษิตบทนี้นอกจากใช้สอนเกี่ยวกับเรื่องการกินโดยตรงแล้ว ยังให้ข้อ ชี้แนะในเชิงเปรียบเทียบกับการทำกิจการงานต่าง ๆ ว่าควรให้มีความพอดี ไม่ควรทำอะไรเกินกำลังและฐานะของตนด้วย
ภาษิตที่สอนเรื่องควรกินให้พอดีอีกบทหนึ่ง คือ
ทวยใจปาก ลำบากท้อง [ตวยไจ๋ปาก ลำบากต้อง] แปลว่า ตามใจ ปากลำบากท้อง หรือบทที่กล่าวแตกต่างออกไปว่า
ตามใจปาก ช่างยากใจท้อง [ต๋ามไจ๋ปาก จ้างญากไจ๋ต้อง] แปลว่า ตามใจปาก มักจะยากใจท้อง มีความหมายว่า หากไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจในการกิน คือ กินอาหารรสอร่อยตามใจปากมากเกินพอดี จะเกิดความผิดปกติกับระบบ ทางเดินอาหาร หรืออาหารอาจเป็นพิษ ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้
ทวยใจ [ตวยไจ๋] แปลว่า ตามใจ
ช่าง [จ้าง] แปลว่า มักจะ
และยังมีภาษิตอีกบทหนึ่งที่เตือนสติเรื่องเดียวกันนี้ได้แก่ภาษิตว่า
ปากกว้างกว่าท้อง [ปากกว้างกว่าต้อง] แปลว่า มีความต้องการกิน อาหารเกินกว่าที่ท้องจะรับได้ หมายความว่า มีความอยากกินเพราะเห็นอะไร ก็น่ากินไปหมด บางทีก็ติดใจรสชาติของอาหารเลยกินมากจนเกินความ ต้องการของร่างกาย กล่าวคือ เป็นการกินที่แม้ท้องจะอิ่มแต่ใจก็ยังสั่งให้กิน ต่อไปเรื่อยๆ หรือมีความหมายเป็นการกล่าวเปรียบผู้ที่ทำอาหารหรือซื้ออาหาร มาเป็นจำนวนมากเพราะความอยากกินแต่กินไม่หมดก็ได้ ภาษิตบทนี้นอกจาก สอนเรื่องการกินแล้ว ยังเปรียบเทียบไม่ให้เป็นคนโลภมากอีกด้วย
ภาษิตบางบทเตือนสติไม่ให้กินอาหารที่มีราคาแพงเกินฐานะ โดย เอาอย่างรสนิยมของคนร่ำรวย เช่นภาษิตที่ว่า
กินเหมือนเพิ่น จะไปกินเหมือนเพิ่น [กินเหมือนเปิ้น จะไปกินเหมือนเป็น] แปลว่า กินเหมือนท่าน แต่อย่ากินอย่างท่าน หมายความว่า ควรกินอาหารเหมือนคนทั่วไปเขากินกัน คือกินเพื่อดำรงชีวิต แต่อย่ากินอย่างบางคนที่ร่ำรวย คือ กินอาหารที่มีราคาแพงหรือกินอาหารหลายอย่างเกินความจำเป็น นับเป็นการสอนไม่ให้เอาอย่างการกินที่ฟุ่มเฟือยเกินฐานะ
เพิ่น [เปิ้น] แปลว่า ท่านหรือคนอื่น
เหมือน ในวรรคที่ ๒ แปลว่า อย่างหรือเยี่ยงอย่าง
ภาษิตนี้ นอกจากชี้แนะเรื่องการกินแล้ว ยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับการรู้จักประมาณตนในเรื่องต่าง ๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีภาษิตที่เตือนสติให้รู้จักใช้จ่ายในการกินอยู่อย่างพอดีไม่ฟุ่มเฟือย ดังภาษิตว่า
ยามมีกินติก ๆ ยามบ่มีพับตาหยิบ ๆ [ยามมีกินติ๊กติ๊ก ยามบ่มีพับตาหยิบหยิบ] แปลว่า ยามมี กินไม่หยุดไม่หย่อน ยามไม่มีได้แต่กระพริบตาปริบ ๆ หมายความว่า หากไม่มีความพอดีในการกินและการใช้จ่ายจะต้องลำบากในภายหลัง โดยชี้ให้เห็นว่า เมื่อมีเงินหรือมั่งมี ก็ใช้จ่ายซื้อหาของกินของใช้อย่างฟุ่มเฟือยตลอดเวลา ไม่ได้คำนึงว่าเงินจะต้องหมดลง ครั้นเงินหมดหรือจนลง ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่ทำตาปริบ ๆ เพราะไม่มีอะไรจะกินหรือไม่มีเงินทองจะใช้จ่าย
ติก ๆ [ติ๊กติ๊ก] แปลว่า เรื่อย ๆ, บ่อย ๆ
พับตา [พับตา] แปลว่า กระพริบตา
หยิบ ๆ [หยิบหยิบ] ออกเสียงได้ ๒ แบบ เป็น [หยิบหยิบ] หรือ [หญิบหญิบ] แปลว่า ปริบ ๆ ใช้กับการกระพริบตา
ภาษิตที่มีเนื้อความทำนองเดียวกันนี้มีอีกหลายบท เช่น
ยามมีกินพอแสน ยามบ่มีแมนตาอยู่ [ยามมีกินพอแสน ยามบ่มีแมนตาอยู่] แปลว่า ยามมี กินนับเป็นแสน ยามไม่มี ได้แต่ลืมตาอยู่ หมายความว่า เมื่อมั่งมีก็ใช้จ่ายในการกินเป็นจำนวนมาก เมื่อไม่มีเงินหรือเงินหมดลงก็ได้แต่ลืมตาหรือกลอกตา
แมน แปลว่า โผล่
แมนตา [แมนตา] แปลว่า ลืมตา
และ ยามมีกิน กินจนพอแหงน ยามบ่มีแมนตาผ่อ [ยามมีกิน กินจนพอแหงน ยามบ่มีแมนตาผ่อ] แปลว่า ยามมีกิน กินจนต้องแหงนหน้า ยามไม่มีได้แต่จ้องดู หมายความว่า เมื่อมีเงินหรือมีกิน ก็กินจนเกินพอดี คือ กินจนจุกถึงคอ จนต้องแหงนหน้า แต่ครั้นเงินหมดไม่มีอะไรจะกินก็ได้แต่ดูคนอื่นเขากิน
ผ่อ แปลว่า ดูหรือมอง
นอกจากจะมีภาษิตที่สอนให้รู้จักประมาณตนเรื่องการกินและการ ใช้จ่ายเรื่องการกินแล้ว ภาษิตล้านนาบางบทสะท้อนให้เห็นการให้ความสำคัญ กับเรื่องการแต่งกายมากกว่าเรื่องอาหารการกิน เช่น
ทุกข์บ่มีกิน บ่มีใตามไฟส่องท้อง ทุกข์บ่ได้นุ่งได้หย้อง พี่น้องดูแควน [ตุ๊กบ่มีกิน บ่มีใผตามไฟส่องท้อง ตุ๊กบ่ได้นุ่งได้หย้อง ปี้น้องดูแควน] แปลว่า ยากจนไม่มีอะไรจะกิน ไม่มีใครจุดไฟส่องดูท้องของเรา แต่ยากจนไม่ได้นุ่งไม่ได้ใส่เครื่องประดับ ญาติพี่น้องจะดูแคลน หมายความว่า อาหารที่อยู่ในท้องไม่มีใครมองเห็นได้ จึงไม่ต้องพิถีพิถันในเรื่องการกิน ต่างกับ เครื่องแต่งกายเครื่องประดับเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจน ผู้ที่แต่งกายดีจะ ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ และเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ทั้งนี้เพราะสังคมล้านนา มีความอุดมสมบูรณ์ ผู้คนไม่ต้องกังวลเรื่องอาหารการกิน จึงให้ความสำคัญกับ เรื่องการแต่งกาย ว่าควรแต่งกายให้ดูดี ไม่ให้ใครมาดูถูกดูแคลน แต่ใน ขณะเดียวกันก็มีภาษิตที่สอนว่าไม่ควรแต่งกายให้เกินฐานะ เช่น
คันเจ้านุ่งผ้างาม อย่านุ่งผ้าเปรียบ [กั๋นเจ้านุ่งผ้างาม อย่านุ่ง ผ้าเผียบ] แปลว่า ครั้นเจ้านุ่งผ้างาม อย่านุ่งผ้าเทียมท่าน หมายความว่า หากเห็น เจ้านายแต่งกายงดงามด้วยเสื้อผ้าชั้นดีราคาแพง ก็ไม่ควรคิดอยากจะแต่ง เทียบกับท่าน ซึ่งการแต่งกายเทียบหรือเสมอเจ้านายเป็นการกระทำที่เกินฐานะ ของตน
คัน [กั๋น] แปลว่า ครั้นหรือหาก
เปรียบ [เผียบ] แปลว่า เทียบ, เสมอ
อย่างไรก็ตาม ยังมีภาษิตที่สอนให้มีความพอดีในเรื่องการกินและการ แต่งกายไปพร้อมกันด้วย เช่น ภาษิตที่ว่า
กินหื้อมันพอท้อง หย้องหื้อมันพองาม [กินหื้อมันปอต๋อง หย้องหื้อมันปองาม] แปลว่า กินให้พอดีท้อง แต่งตัวให้พองาม หรือ กินหื้อมันพอท้อง หย้องก็หื้อ พอตัว เกิ่นหื้อมันปอต๋อง หย้องก่อหื้อมันปอตั๋ว] แปลว่า กินให้พอดีท้อง แต่งกาย ก็ให้พอเหมาะกับตัวและฐานะ หรือ กินก็หื้อกินพอท้อง หย้องก็หื้อหย้องพอตัว เกิ่นก่อหื้อกินปอต๋อง หย้องก่อหื้อหย้องปอตั๋ว แปลว่า กินก็กินให้พอดีกับท้อง แต่งกายก็ให้เหมาะสมกับตัวและฐานะ
พอ [ปอ] แปลว่า พอดี
หย้อง แปลว่า แต่งตัว
ภาษิตข้างต้นมีความหมายเหมือนกันคือ เตือนสติว่าควรให้มีความพอดี ทั้งเรื่องการกินและการแต่งกาย คือกินพออิ่มท้อง ไม่กินมากจนเกินไปหรือ สรรหาอาหารหลากหลายชนิดมากินจนเกินความจำเป็น ในขณะเดียวกันก็ สอนว่าควรแต่งกายให้พองาม เหมาะกับรูปร่างหน้าตาและฐานะของตน ไม่ควร สรรหาเสื้อผ้า เครื่องประดับที่มีราคาแพงมาแต่งกายให้เกินฐานะ
ภาษิตที่สอนไม่ให้กระทำสิ่งต่าง ๆ เกินฐานะและความสามารถของตนนั้น นอกจากเรื่องการกินและการแต่งกายแล้วยังเตือนสติเรื่องความอยากมีอยาก เป็นให้เท่าเทียมคนอื่นด้วย เช่นบทที่ว่า
เงินบ่นักจะไปเยียะอย่างเศรษฐี บุญบ่มีจะไปใคร่เป็นเจ้า [เงิน บ่อนักจะไปเญียะอย่างเสดถี บุญบ่อมีจะไปไค่เป็นเจ้า] แปลว่า เงินไม่มาก อย่าทำอย่างเศรษฐี ไม่มีบุญอย่าอยากเป็นเจ้า หมายความว่า ถ้ามีเงินไม่มาก หรือไม่ร่ำรวย ก็อย่าใช้จ่ายหรือทำตัวเหมือนอย่างเศรษฐี และถ้าไม่มีบุญ วาสนาแล้วละก็อย่าปรารถนาที่จะเป็นเจ้านาย
จะไป แปลว่า อย่า
เยียะ [เญียะ] แปลว่า ทำ
และมีภาษิตอีกบทหนึ่งที่สอนให้พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่และไม่ให้ดูถูกคน ที่ยากจนกว่า ได้แก่
หันเพิ่นมีจะไปใคร่ได้ หันเพิ่นขี้ไฮ้จะไปดูแควน [หันเปิ้นมีจะไป ไค่ได้ หันเปิ้นขี้ไฮ้จะไปดูแควน] แปลว่า เห็นคนอื่นมีอย่าอยากได้ เห็นคนอื่น ยากจนอย่าดูแคลน หมายความว่า เมื่อเห็นคนอื่นมั่งมีร่ำรวยก็อย่าอิจฉา อยากได้ทรัพย์สมบัติของเขาหรืออยากมีเหมือนอย่างเขา และเมื่อเห็นคนที่ ยากจนต่ำต้อยกว่าตนก็ไม่ควรดูหมิ่นดูแคลนเขา
ขี้ไฮ้ [ขี้ไฮ้] แปลว่า ยากจน
ดูแควน แปลว่า ดูถูก ดูแคลน
และมีอีกบทหนึ่งว่า จะไปตีกลองเอี่ยงฟ้า จะไปขี่ม้าเอี่ยงตะวัน [จะไป ตี้ก๋องเอี่ยงฟ้า จะไปขี่ม้าเอี่ยงตะวัน] แปลว่า อย่าตีกลองแข่งกับฟ้า อย่าขี่ม้า แข่งตะวัน หมายความว่า ไม่ควรกระทำสิ่งใดแข่งกับคนที่มีสถานภาพหรือความ สามารถสูงกว่า เพราะถึงอย่างไรก็ไม่มีศักยภาพที่จะทำเช่นนั้นได้ เหมือนกับ การตีกลองแข่งกับเสียงฟ้าร้อง เสียงกลองไม่อาจจะดังสู้เสียงฟ้าร้องได้ และ การขี่ม้าเพื่อหวังจะแข่งกับดวงอาทิตย์ก็ไม่สามารถแข่งได้
เอี่ยง แปลว่า แข่ง, แข่งขัน อาจใช้ว่า เขี่ยง หรือ เถี่ยง ก็ได้
ภาษิตดังกล่าวข้างต้นจึงสอนให้รู้จักประมาณฐานะ และความสามารถ ของตน และควรพอใจกับสิ่งที่มีที่เป็น เพราะการอยากได้ อยากมี อยากเป็น ที่เกินฐานะของตนจะทำให้เกิดความทุกข์
มีภาษิตล้านนาบางบทที่สอนให้รู้จักประมาณตนเฉพาะเรื่องการทำงาน ได้แก่ภาษิตที่ว่า
เยียะอะหยังหื้อรู้จักประมาณ กระทำการหื้อรู้จักผ่อน แรงตัวอ่อน อย่าไปหาบหนัก คันแอวบ่หักหลังก็จักก่อง [เญียะอะหญังหื้อรู้จักผะหมาน กะตำก่านหื้อรู้จั๊กผ่อน แฮงตั๋วอ่อนอย่าไปหาบหนัก กันแอวบ่อหั้กหลังก่อจั๊กก่อง] แปลว่า ทำอะไรให้รู้จักประมาณ ทำงานให้รู้จักผ่อน กำลังน้อยไม่ควรหาบหนัก ถึงเอวไม่หักหลังก็จะโกงได้ หมายความว่า ทำการงานอะไรให้รู้จักประมาณ กำลังของตน ไม่หักโหมหรือทำงานเกินกำลัง ถ้ากำลังเราน้อยก็ไม่ควรหาบของ หนัก เพราะการหาบของหนักเกินกำลังอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บได้
อะหยัง [อะหญัง] แปลว่า อะไร
แอว แปลว่า เอว
ก่อง แปลว่า โก่ง, โกง
หลังก่อง คือ หลังโกง
และมีภาษิตอีกบทหนึ่งว่า กินหื้อพอคาบ หาบหื้อพอแรง แปลงหื้อพอใช้ ไข้หื้อพอหมอน [กินหื้อปอคาบ หาบหื้อปอแฮง แปงหื้อปอไจ๊ ไข้หื้อปอหมอน] แปลว่า กินให้พอมื้อ หาบให้พอแรง สร้างให้พอใช้ ไข้ให้พอหมอน หมายความว่า ควรรู้จักทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตอย่างพอเหมาะพอดี คือ กินให้พอ อิ่มในแต่ละมื้อ ทำงานให้พอดีกับกำลัง จะสร้างหรือทำสิ่งใดขึ้นมาก็ให้เพียงพอ สำหรับการใช้สอย และหากป่วยไข้ก็ต้องดูว่าเหมาะที่จะนอนพักหรือยัง หากรู้จัก ทำกิจการงานต่าง ๆ อย่างจริงจังและพอเหมาะพอควรก็จะได้รับผลสำเร็จ
คาบ แปลว่า มื้ออาหาร
แปลง [แปง] แปลว่า สร้าง, ทำ, ประดิษฐ์
นอกจากนี้ยังมีภาษิตที่แสดงให้เห็นว่าการกระทำอย่างไรเป็นการกระทำ ที่ไม่รู้จักประมาณตน ไม่รู้จักการเตรียมการในการทำงาน เช่นภาษิตที่ว่า
กินข้าวบไว้ต่าน้ำ เข้าถ้ำบ่ตามไฟ เทียวทางไกลบ่มีเพื่อน [กิ๋นเข้าบ่อไว้ต่าน้ำ เข้าถ้ำบ่อต้ามไฟ เตียวตางไก่บ่อมีเปื้อน] แปลว่า กินข้าว ไม่เหลือที่ไว้ให้น้ำ เข้าถ้ำไม่จุดไฟ เดินทางไกลไม่มีเพื่อน มีความหมายเป็น การเปรียบเทียบให้เห็นว่า หากกระทำสิ่งต่าง ๆ ในลักษณะเช่นนี้จะส่งผลให้เกิด อุปสรรคขึ้นได้ ดังนั้นก่อนที่จะกระทำการสิ่งใดควรรู้จักประมาณตนว่า จะต้องทำอย่างไรจึงจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียตามมา
ตามไฟ [ต้ามไฟ] แปลว่า จุดไฟ
เที่ยว [เตียว] แปลว่า เดิน
ภาษิตล้านนาที่สอนให้รู้จักประมาณตนดังกล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่า เป็นภาษิตที่เตือนสติให้ทำเช่นนี้ ไม่ควรทำเช่นนั้น แต่ยังมีภาษิตอีกบทหนึ่งที่ให้ ข้อคิดเป็นแนวทางว่า การประมาณตนในการดำรงชีวิตนั้น ควรทำอย่างไร โดยการยกธรรมชาติมาเปรียบเทียบให้เห็น ภาษิตดังกล่าวมีว่า
ค่อยอยู่ตามน้ำ ทำไปตามตัว น้ำเพียงใด ดอกบัวเพียงอั้น (ก้อย อยู่ต้ามน้ำ ทำไปต้ามตั๋ว น้ำเปียงได ดอกบัวเปียงอั้น) แปลว่า ค่อยอยู่ตามน้ำ ทำไปตามตัว น้ำเพียงใด ดอกบัวเพียงนั้น หมายความว่า ให้ระมัดระวัง การกินการอยู่และการกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับฐานะและความรู้ ความสามารถของตน เหมือนกับดอกบัวที่มีก้านยาวหรือสั้นตามระดับลึกตื้น ของน้ำ
ค่อย [ก้อย] แปลว่า ระมัดระวัง, สำรวม
น้ำ ในที่นี้หมายถึง ความสามารถ, ความดี, ความสำคัญ
เพียง [เปียง] แปลว่า เสมอหรืออยู่ในระดับเดียวกัน
อั้น แปลว่า นั้น
(ผศ. วีรฉัตร วรรณดี)