ภาษิตว่าด้วยการค้าขาย

การค้าขายเป็นอาชีพของชาวล้านนา รองจากเกษตรกรรม พ่อค้าก็คือ ชาวนาชาวไร่ซึ่งออกไปขายหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว ไม่ว่าจะโดยใช้ระบบแลก เปลี่ยนสินค้าหรือใช้ระบบเงินตรา มีทั้งการค้าในท้องถิ่นและค้าขายทางไกล โดยใช้สัตว์ต่าง เช่น วัวต่าง ม้าต่าง หรือทางเรือ

โดยปกติแล้วชาวล้านนาส่วนใหญ่ไม่ชอบยึดอาชีพค้าขายเป็นหลัก เพราะถือว่าเสี่ยงต่อการขาดทุน ดังภาษิตว่า

สิบเรือค้า บ่เท่านาพั่นเดียว [สิบเฮือค้า บ่เท่านาพั่นเดียว] หมายความว่า มีเรือสินค้าสิบลำยังไม่เท่ากับมีนาแปลงเดียว

พั่น ตรงกับคำว่า แปลง ในภาษาไทยกรุงเทพ เป็นลักษณนาม ใช้กับที่นา

การค้าขายที่ทำกันหลังเสร็จฤดูทำนาแล้ว มักเป็นการค้าย่อยที่ไม่ต้อง ลงทุนมากนอกจากนำผลผลิตส่วนเกินของครอบครัวไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งของ ที่ต้องการหรือนำไปขาย ผู้ใหญ่มักบอกลูกหลานว่า

หมั่นค้าขายเที่ยงได้ ไผบ่ผูกมือไว้ เยียะได้หากเป็นของเรา [หมั่นก๊าขายเตี้ยงได้ ไผบ่อผูกมือไว้ เญี่ยะได้หากเป็นของเฮา] แปลว่า ขยัน ค้าขาย ต้องได้ผลตอบแทนแน่นอน ไม่มีใครผูกมือไว้ ทำมาหาได้ ย่อมเป็น

ของเรา หมายความว่า ถ้าขยันค้าขาย ก็ย่อมได้ผลตอบแทนแน่นอน ไม่มีใคร ห้ามไว้ ค้าขายได้เงินเท่าใดก็เป็นของเราทั้งหมด

เที่ยง แปลว่า เที่ยงแท้, แน่นอน

ไผ แปลว่า ใคร

ผูกมือ แปลว่า มัดมือไว้ ในที่นี้หมายถึง ห้ามปราม, หน่วงเหนี่ยว

เยียะ แปลว่า ทำ

และให้ หมั่นไปหาบค้าหาบขาย มีข้าวของหลายมาก [หมั่นไป หาบก๊าหาบขาย มีข้าวของหลายมาก] คือยิ่งขยันค้าขายก็ยิ่งมีสิ่งของเครื่องใช้ มากขึ้น ถ้าเป็นคู่สามีภรรยากันและฉลาดในการช่วยกันค้าขายแล้ว ย่อมมี เครื่องครัวเรือนใช้อย่างเพียงพอ ดังภาษิตว่า

สองฉลาดค้าจักมีครัวเรือน [สองสะหลาดก๊าจักมีคัวเฮือน]

ครัว [คั่ว] แปลว่า ข้าวของ

ครัวเรือน [คัวเฮือน] แปลว่า ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน

มีภาษิตที่แสดงให้เห็นว่าคนล้านนามองเห็นว่าการค้าขายมีความสำคัญ ทำให้มีฐานะดีได้ ซึ่งอาจเป็นทัศนคติที่เกิดขึ้นในภายหลัง เช่น

ใคร่เป็นดีหื้อหาบไปค้า ใคร่เป็นข้าหื้ออยู่ดาย [ไค่เป็นดีหื้อหาบ ไปก๊า ไค่เป็นข้าหื้ออยู่ดาย] แปลว่า ถ้าอยากฐานะดี ให้หาบของไปขาย ถ้าอยาก เป็นขี้ข้า ให้อยู่เฉย ๆ หมายความว่า ถ้าอยากได้ดีมีเงินให้รู้จักค้าขาย แต่ถ้า อยากเป็นขี้ข้ารับใช้ผู้อื่น ก็ให้อยู่เฉย ๆ

ใคร่ [ไค่] แปลว่า ต้องการ, อยาก

เป็นดี แปลว่า มั่งมี มีฐานะดี

ข้า แปลว่า ขี้ข้า, คนรับใช้

ดาย แปลว่า เปล่า ๆ, เฉย ๆ

ภาษิตบทนี้ พบอีกสำนวนหนึ่งที่มีการใช้คำแตกต่างกันเล็กน้อย ว่า ใคร่เป็นดีหื้อหมั่นค้า ใคร่เป็นข้าหื้ออยู่บ่ดาย [ไค่เป็นดีหื้อหมั่นก๊า ไค่เป็นข้า หื้ออยู่บ่อดาย]

การค้าขายในล้านนาสมัยก่อนส่วนมากเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้ากัน มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าเมื่อมีการติดต่อการค้ากับอังกฤษ ผ่านอินเดีย และพม่า จึงมีการใช้เงินรูปี เรียกว่า เงินแถบ ซึ่งเป็นเงินที่ใช้ในการซื้อขายในบริเวณพม่า อินเดีย มาก่อน สันนิษฐานว่าภาษิตคำสอนของล้านนาที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับ การค้ามีเพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่น่าจะปรากฏในช่วงนี้ เช่น

ใคร่เป็นเศรษฐีหื้อหมั่นค้า ใคร่เป็นขี้ข้าหื้อเล่นไพ่หลังลาย [ไค่เป็นเสดถีหื้อหมั่นก๊า ไค่เป็นขี้ข้าหื้อเหล้นพ้ายหลังลาย] หมายความว่า ถ้าอยากเป็นเศรษฐีให้ขยันค้าขาย ถ้าอยากเป็นข้าทาสก็ให้เล่นไพ่

พ้าย แปลว่า ไพ่

พ้ายหลังลาย คือ ไพ่ที่ด้านหลังมีลวดลาย หมายถึง ไพ่ฝรั่ง

คึดไร่นาสวนสร้างเวียก ค้าขายเลียกหาเงิน [กี๊ดไฮ่นาสวน ส้างเวียก ก๊าขายเลียกหาเงิน] แปลว่า คิดทำนาทำสวนสร้างงาน ค้าขายเรียก หาเงิน หมายความว่า คิดทำนาทำสวนเป็นการสร้างงานหนักเพราะมีภาระต้อง ดูแลมาก แต่ค้าขายเป็นงานเบาสามารถหาเงินได้ง่ายกว่า

เวียก แปลว่า งาน ในที่นี้หมายถึง งานหนัก

ภาษิตอีกบทหนึ่งมีว่า

หมั่นเข้ากาดเงินหลาย หมั่นค้าขายเงินคำนัก [หมั่นเข้ากาด เงินหลาย หมั่นก๊าขายเงินคำนัก] หมายความว่า ขยันเข้าตลาดจะมีเงินมาก เพราะเอาสินค้าไปขาย ขยันค้าขายได้เงินทองมาก

คนล้านนาไม่เก่งเรื่องการค้าทางไกลเท่าพ่อค้าไทใหญ่และพ่อค้าพม่า ดังนั้นชาวล้านนาจึงสอนกันว่า

ค้าใกล้ดีกว่าค้าไกล [ก๊าไก้ดีกว่าก๊าไกล] และ คนหลุวักค้าใกล้ คนใบ้ค้าไกล [คนหลวักก๊าใก้ คนไบ้ก๊าไกล] หมายความว่า คนฉลาดมักค้าขาย ใกล้ ๆ ละแวกท้องถิ่นของตน แต่คนโง่มักเดินทางไปค้าไกล

หลุวัก แปลว่า ฉลาดหลักแหลม

ใบ้ แปลว่า พูดไม่ได้ ในที่นี้หมายถึง โง่

เนื่องจากการค้าในระยะใกล้ ลงทุนน้อยทั้งเรื่องของเงินทุน เวลาเดินทาง แรงงานคน แรงงานสัตว์ต่าง แต่อย่างไรก็ตามยังมีพ่อค้าชาวล้านนาบางกลุ่ม ที่ค้าขายทางไกลโดยใช้วัวหรือม้าบรรทุกสินค้าไปแลกเปลี่ยนหรือค้าขายกับ พ่อค้าเมืองอื่น ๆ บางครั้งยังนำสินค้าไปขายถึงเมืองมะละแหม่งและเชียงตุง ประเทศพม่า เข้าไปขายในประเทศลาว และเดินทางไปถึงแคว้นสิบสองพันนา ประเทศจีน ขากลับก็นำสินค้าจากเมืองเหล่านั้นกลับมาขายในท้องถิ่นของ ตนด้วย

มีภาษิตสำหรับพ่อค้าวัวต่างสำนวนหนึ่งว่า

จักค้างัวหื้อผ่อดูต่าง หมั่นซ่อมห้างบ่ดูดาย [จักค้างัวหื้อผ่อดูต่าง หมั่นซ่อมห้างบ่ดูดาย] แปลว่า จะค้าขายโดยใช้วัวต่างก็ให้ดูแลต่าง หมั่นซ่อมแซมและตระเตรียมไม่อยู่เฉย

งัว คือ วัว

ต่าง ในภาษิตนี้หมายถึง กระทอซึ่งเป็นภาชนะสานทรงกระบอกที่ใช้บรรทุกบนหลังสัตว์ต่าง เช่น ม้า หรือ วัวซึ่งเป็นพาหนะบรรทุกสิ่งของในการเดินทาง

ซ่อม [ส้อม] แปลว่า ทำให้ดีเหมือนเดิม, เติมส่วนที่ขาดให้ครบ

ห้าง แปลว่า ตระเตรียม, จัดเตรียม

คำสอนนี้เตือนสติให้พ่อค้าต้องหมั่นสำรวจต่างซึ่งเป็นเครื่องใช้สำคัญในขบวนวัวต่าง ว่าบรรทุกข้าวของมีน้ำหนักพอดีกับกำลังของวัวที่จะรับได้หรือไม่ หากต่างชำรุดก็ต้องซ่อมแซม หรือหากสินค้าพร่องไปให้หามาเติม เรื่องความห่วงบ้านห่วงลูกเมียเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะพ่อค้าทางไกลที่มีภรรยางาม เป็นเรื่องทุกข์ใจอย่างยิ่งที่ต้องจากบ้าน ในขณะที่ชายผู้มีภรรยาไม่งามกลับเป็นทุกข์ยามพาไปงานบุญ เพราะอายเขา ดังมีคำกล่าวว่า

มีเมียงามทุกข์ใจเมื่อไปค้า เมียบ่งามทุกข์ใจเมื่อพาไปพอย [มีเมียงามตุ๊กไจ๋เมื่อไปก๊า เมียบ่องามตุ๊กไจ๋เมื่อปาไปปอย]

ทุกข์ใจ [ตุ๊กไจ๋] แปลว่า เป็นทุกข์, กลุ้มใจ

พอย [ปอย] แปลว่า งานฉลอง, งานบุญ

อาชีพค้าขายเป็นงานที่ต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียรและความอดทน ทำอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงมีภาษิตที่เน้นในเรื่องนี้มาก โดยมีคำว่า หมั่น ซึ่งแปลว่า ขยัน อยู่ในภาษิตนั้นด้วย ดังตัวอย่างเช่น

ใคร่เป็นดีหื้อหมั่นค้า ใคร่เป็นขี้ข้าหื้อเป็นนายประกัน [ใคร่เป็นดีหื้อหมั่นก๊า ใคร่เป็นขี้ข้าหื้อเป็นนายปะกั้น] แปลว่า ถ้าอยากร่ำรวยให้ขยันทำการค้า ถ้าอยากเป็นขี้ข้าให้เป็นนายประกัน เพราะต้องใช้หนี้แทนคนอื่น

ใคร่มีสินหื้อหมั่นค้า คันใคร่ฉลาดหื้อปฏิบัติพานิโช [ใคร่มีสินหื้อหมั่นก๊า ใคร่ฉลาดหื้อปฏิบัติปานิโช] แปลว่า ถ้าอยากมีทรัพย์สินมากให้ขยันค้าขาย ถ้าอยากฉลาดให้เป็นพ่อค้า

พานิโช [ปานิโจ] คือ พานิช หมายถึง พ่อค้า

หมั่นค้าขายเที่ยงได้ดี ใผบ่บอกมีไว้ เยียะได้หากเป็นของพรองดี บ่เป็นหนี้ท่านแล หลานเหย [หมั่นก๊าขายเที่ยงได้ดี ใผบ่บอกมีไว้ เยียะได้หากเป็นของพรองดี บ่เป็นหนี้ท่านแล หลานเหย] แปลว่า ขยันค้าขายย่อมได้ดีอย่างแน่นอน ไม่ต้องมีใครบอก ทำได้ก็เป็นสิ่งที่ดี จะได้ไม่เป็นหนี้คนอื่นนะหลานเอ๋ย

นอกจากนี้ยังมีภาษิตที่เกี่ยวกับข้อห้าม ข้อควรปฏิบัติอื่น ๆ สำหรับคนค้าขายอีกหลายประเด็น เช่น

๑. มีข้อห้ามค้าขายของที่ขัดต่อศีลธรรม เช่น ค้าอาวุธ สุรา สัตว์และยาพิษ ดังตัวอย่างในวรรณกรรมเรื่องปู่สอนหลานว่า

อย่าค้าของฆ่าท่านทุกเยื่อง [อย่าก๊าของข้าต้านทุกเญื่อง] แปลว่า อย่าค้าอาวุธทุกอย่าง

ของฆ่า [ของข้า] คือ ของที่ทำให้ตาย หมายถึง อาวุธต่าง ๆ

อย่าใส่เหล้าหุงขาย แปลว่า อย่าต้มสุราขาย

สัตว์ทังหลายอย่าค้า [สัดตังหลายอย่าก๊า] แปลว่า อย่าค้าสัตว์หรือสิ่งมีชีวิต

อย่าซื้อพิษง้วนกล้าเป็นของขาย [อย่าซื้อปิดง้วนก้าเป็นของขาย] แปลว่า อย่าค้าขายยาพิษหรือสิ่งที่เป็นพิษ

ง้วน แปลว่า ยาพิษ, ยาเบื่อ

กล้า [ก้า] แปลว่า รุนแรง

๒. ให้เริ่มต้นค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน แล้วจึงค่อยขยายกิจการ ให้ทำตามกำลังทุนที่มี มิฉะนั้นอาจขาดทุนหรือต้องล้มเลิกกิจการ ดังภาษิตว่า

จะหัดค้าหื้อหัดคำหน้อย จะเป็นนายร้อยหื้อใจกล้า ๆ [จะหัดก้าหื้อหัดกำหน้อย จะเป็นนายฮ้อยหื้อไจ้ก้าก้า] แปลว่า ถ้าจะหัดค้าขายให้ค้าทีละเล็กทีละน้อย คือขายสินค้าจำนวนน้อยเสียก่อนเพื่อเรียนรู้วิธีการค้าขายหรือถ้าการค้าไม่ประสบความสำเร็จก็จะขาดทุนไม่มาก ถ้าอยากเป็นคนคุมขบวนสัตว์ต่าง ต้องมีใจกล้าหาญ เพราะต้องควบคุมคนหมู่มากและต้องดูแลความปลอดภัยของขบวนสัตว์ต่าง

คำ [กำ] แปลว่า ครั้ง คราว

คำหน้อย [กำหน้อย] แปลว่า ทีละน้อย

นายร้อย [นายฮ้อย] แปลว่า ผู้ควบคุมขบวนสัตว์ต่างไปค้าขาย

เงินบ่หลายอย่าไปค้าม้า ผ้าห่มบ่หนาบ่ดีนอนริมไฟ [เงินบ่อหลายอย่าไปก๊าม้า ผ้าห่มบ่อหนาบ่อดีนอนฮิมไฟ] แปลว่า เงินไม่มากอย่าค้าม้า เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง ผ้าห่มไม่หนาอย่านอนริมกองไฟ เนื่องจากเวลาค้างแรมในป่าจะต้องก่อกองไฟเพื่อป้องกันสัตว์ร้ายหรือแมลง และคนต้องอยู่ใกล้กองไฟนั้น จึงต้องมีผ้าห่มหนา ๆ เพื่อกันประกายไฟและใช้ดับไฟเมื่อไฟลุกลาม

๓. เป็นคนค้าต้องรู้จักอดทน รอคอยโอกาสหรือจังหวะที่จะขายของและฉลาดพลิกแพลงวิธีการขาย ดังมีภาษิตว่า

จะซื้อเมื่อยามเพิ่นใคร่ขาย จะขายเมื่อยามเพิ่นใคร่ซื้อ [จะซื้อเมื่อยามเปิ้นไค่ขาย จะขายยามเปิ้นไค่ซื้อ] แปลว่า จะซื้อให้ซื้อเวลาที่เขาอยากขาย จะขายให้ขายเวลาที่เขาอยากซื้อ หมายความว่า ควรซื้อของในขณะที่มีคนอยากขาย และควรจะขายในขณะที่มีคนอยากซื้อ เพราะหากเขาอยากขาย เราจะซื้อได้ง่าย ได้ราคาถูก หากเขาอยากซื้อ เราก็จะขายได้เร็ว ได้ราคาดี

เพิ่น [เปิ้น] แปลว่า ท่าน, เขา

๔. ต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกล รู้จักสำรวจความต้องการของตลาด มีมนุษยสัมพันธ์ดี รู้จักเลือกคบคนเพื่อหาความรู้ใส่ตัวอันจะเป็นประโยชน์ต่อการค้า

เป็นพ่อค้าหมั่นไปใช หันอันใดเอายามเช้า [เป็นป้อก๊าหมั่นไปใจหันอันใดเอายามเจ้า] แปลว่า เป็นพ่อค้าต้องขยันสำรวจตลาด เห็นสิ่งใดที่จะซื้อได้ก็ให้รีบซื้อหาเอาไว้แต่เนิ่นๆ

ไปใช [ไปใจ] แปลว่า ไปดูแล, ไปเยี่ยม

ยามเช้า [ยามเจ้า] ในที่นี้แปลว่า แต่โดยเร็ว, แต่เนิ่น ๆ

เป็นพ่อค้าอย่าอวดว่าข้าวของหลาย หื้อได้ซอนดูที่ขายที่ซื้อ [เป่นป้อก๊าอย่าอวดว่าเข้าของหลาย หื้อได้ซอนดูตี้ขายตี้ซื้อ] แปลว่า เป็นพ่อค้าอย่าถือดีว่ามีสินค้ามากแล้ว ให้หมั่นตระเวนเสาะหาดูตลาดและดูสินค้า

ซอน แปลว่า ซอกซอน, เสาะหา

พักเรือไว้หลายท่า หม่าข้าวไว้หลายเมือง [พักเฮือไว้หลายต้า หมาเข้าไว้หลายเมือง] แปลว่า จอดเรือไว้หลายท่าน้ำ แช่ข้าวไว้หลายเมือง หมายความว่า ให้สร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในท้องถิ่นทุกแห่งที่ตนค้าขาย

หม่าข้าว [หมาเข้า] แปลว่า แช่ข้าวเหนียวไว้นึ่งในวันรุ่งขึ้น

หรืออีกภาษิตว่า แบ่งเชื้อไว้หลายท่า หม่าข้าวไว้หลายเมือง [แบ่งเจื้อไว้หลายต้า หมาเข้าไว้หลายเมือง] แปลว่า แบ่งเชื้อไว้หลายท่าน้ำ แช่ข้าวเหนียวไว้หลายเมือง หมายความว่า ควรผูกมิตรกับคนหลายกลุ่ม เพื่อจะได้พึ่งพาอาศัยกัน เหมือนแบ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้เพาะหลายแห่ง ทำให้มีข้าวเหนียวไว้แช่เพื่อนึ่งรับประทานหลายเมือง

หื้อปากม่วนสบเครือ [หื้อปากม่วนสับเคือ] แปลว่า ให้พูดเพราะ หมายความว่า ให้รู้จักพูดจาไพเราะ มีสาระ ลูกค้าจะได้ประทับใจ

ปาก แปลว่า พูด

ม่วน แปลว่า ไพเราะ

สบ [สับ] แปลว่า ปาก, พูด

เครือ [เคือ] แปลว่า สอดคล้อง, ต่อเนื่อง, คล้องจอง

๕. ต้องซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ไม่โกงตราชั่ง

อย่าย้ายคันนา อย่าคาตาชั่ง [อย่าญ้ายคันนา อย่ากาต้ำจั้ง] หมายความว่า อย่าขยับคันนา เพื่อโลกเอาที่ดินของคนอื่น อย่าเอาของถ่วง ตาชั่ง เพื่อโกงน้ำหนัก

๖. อย่าค้าขายกับเจ้าขุนมูลนาย จะเสียราคาทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะมีความ เกรงใจเจ้านาย ทำให้ต่อรองราคาไม่ได้ ดังภาษิตว่า อย่าซื้อของต่อนาย อย่าขายของต่อเจ้า

๗. เมื่อตั้งใจค้าขายแล้วอย่าให้ขาดทุนหรือเสียของเปล่า ดังภาษิตว่า คันค้าอย่านื้อพ่ายเสียดาย คันขายอย่านื้อหายเสียเปล่า [กันก๊าอย่านื้อเพ้ย เสียดาย กันขายอย่านื้อหายเสียเป่า]

เสีย แปลว่า หาย

พ่ายเสีย [เพ้ยเสีย] แปลว่า เสียหาย, ขาดทุน

จากภาษิตคำสอนดังกล่าวทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าชาวล้านนาประกอบ อาชีพค้าขายมากขึ้น แต่เป็นการค้าย่อยมากกว่าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีภาษิต ที่ชี้แนะให้คนค้าขายรู้จักปรับตัวทันต่อกลไกของตลาด สอนให้เป็นพ่อค้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ มีศีลธรรมไม่มุ่งหวังกำไรมากจนกลายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ภาษิตเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในโลกการค้าปัจจุบันด้วย

(รศ.เรณู วิชาศิลป์)