ภาษิตว่าด้วยการทำงานให้เหมาะกับเวลา

คนล้านนามีภาษิตที่สอนหรือเตือนสติไม่ให้คิดหรือทำอะไรล่าช้าจน เกินควร เพราะอาจเสียประโยชน์ที่ควรได้ เช่น

เยียะนาหล้าเป็นข้าควาย เอาเมียขวายเป็นข้าลูก [เญี่ยะนาหล้า เป็นข้าควาย เอาเมียขวายเป็นข้าลูก] แปลว่า ทำนาช้าเป็นขี้ข้าควาย มีภรรยาช้าเป็นขี้ข้าลูก หมายความว่า การทำนาที่ช้ากว่าฤดูทำนาจะต้องสิ้นเปลืองอาหารและเสียเวลาเลี้ยงควายนานกว่าปรกติ เพราะไม่ได้ใช้ควายไถนาในต้นฤดูทำนา อีกทั้งเวลาที่ล่าช้าออกไปนั้นทำให้นาไม่เหมาะสมที่จะทำนาเสียแล้ว เช่น น้ำไม่พอทำให้ดินแข็ง หรือมีวัชพืชขึ้นมาก จึงต้องใช้แรงควายหรือทรัพยากรอื่น ๆ มากกว่าปรกติเพื่อที่จะบำรุงดูแลนา ท้ายที่สุดอาจได้ผลผลิตไม่คุ้มกับที่ลงทุนไป เช่นเดียวกับการมีลูกเมื่ออายุมากแล้ว ก็ทำให้ต้องเลี้ยงดูลูกไปจนตัวเองแก่เฒ่าและอาจไม่มีชีวิตอยู่ให้ลูกได้มีโอกาสตอบแทนบุญคุณ เรียกว่ามีลูกไม่ทันใช้นั่นเอง

หล้า แปลว่า ช้ากว่ากำหนด

ช้า แปลว่า บ่าว, คนรับใช้

ขวาย แปลว่า สาย, ล่าช้า

เอาเมีย แปลว่า แต่งงาน ใช้กับฝ่ายชาย บางครั้งใช้ว่า เอาลูกเอาเมีย ถ้าเป็นฝ่ายหญิงใช้ว่า เอาผัว หรือ เอาลูกเอาผัว

ภาษิตอีกบทว่า

เป็นพ่อค้าหมั่นไปใช หันอันใดเอายามเช้า [เป็นป้อก๊าหมั่นไปใจ หันอันใดเอาญามเจ้า] แปลว่า เป็นพ่อค้าให้หมั่นไปสำรวจ เห็นสิ่งใดก็ให้รีบเอา หมายความว่า คนเป็นพ่อค้าควรขยันไปเสาะหาสินค้าเพื่อนำมาขาย หรือให้หมั่นตรวจดูว่าสินค้าของตนว่ามีเพียงพอที่จะขายหรือไม่หรือจะขายไปได้นานเท่าใด เมื่อเห็นสิ่งใดที่สมควรนำมาขายก็ให้รีบซื้อหามา ภาษิตนี้สอนให้คนประกอบอาชีพด้วยความเอาใจใส่ กระตือรือร้น ไม่ล่าช้ารีรอ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในอาชีพของตน

ใช [ใจ] แปลว่า ไปหา, ไปเยี่ยม ในที่นี้หมายถึง ไปเสาะหา

หัน แปลว่า เห็น

ยามเช้า [ญามเจ้า] ตามรูปศัพท์แปลว่า เวลาเช้า ในที่นี้หมายถึงแต่โดยเร็ว

นอกจากนี้ยังมีภาษิตที่เตือนสติว่าไม่ควรล่าช้ารีรอที่จะทำการงาน หรือเรียนรู้สิ่งใด ๆ เพราะวันข้างหน้ากว่าจะคิดได้ก็อาจสายเสียแล้วที่จะทำการงานหรือเรียนรู้สิ่งนั้น ๆ ดังภาษิตว่า

เผื่อรู้คิง น้ำปิงพอแห้ง [เผื่อรู้คิง น้ำปิงปอแห้ง] แปลว่า กว่าจะรู้ตัวแม่น้ำปิงก็แห้งเสียแล้ว หมายความว่า กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว

เผื่อ ในที่นี้แปลว่า กว่าจะ

คิง แปลว่า ตัว, ร่างกาย

รู้คิง [ฮู้คิง] แปลว่า รู้สึกตัว

พอ [ปอ] แปลว่า พอดี, จน, จนกระทั่ง

เหตุที่ภาษิตบทนี้ใช้แม่น้ำปิงมาเปรียบเทียบ เนื่องจากวิถีชีวิตของชาว เชียงใหม่ที่อาศัยแม่น้ำปิงเป็นเส้นทางล่องเรือล่องแพเพื่อค้าขายหรือเดินทาง หากรอจนถึงฤดูแล้งแม่น้ำปิงตื้นเขิน จะไม่สามารถเดินทางได้ และภาษิตอีกบทว่า

เผื่อรู้ก็พอวาย เผื่ออายก็พอเฒ่า เผื่อจะรู้คำพระเจ้าก็พอเข้าอยู่ในหล้อง [เผื่อรู้ก้อปอวาย เผื่ออายก้อปอเถ้า เผื่อจะสู้กำพะเจ้าก้อปอเข้าอยู่ใน หล้อง] แปลว่า กว่าจะรู้ก็วาย กว่าจะอายก็แก่เฒ่า กว่าจะรู้พระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้าก็เข้าไปอยู่ในโลงศพพอดี หมายถึง กว่าจะเข้าใจเรื่องราวเรื่องนั้น ก็สิ้นสุดหรือเกิดความเสียหายไปแล้ว แก้ไขอะไรอีกไม่ได้ กว่าจะเกิดความละอาย หรือสำนึกผิดก็แก่แล้ว และกว่าจะซาบซึ้งในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ตายพอดี

วาย แปลว่า เลิก, สิ้นสุด, เสียหาย

คำพระเจ้า [กำพะเจ้า] แปลว่า พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

หล้อง แปลว่า โลงศพ

ภาษิตบทนี้แสดงให้เห็นว่าคนล้านนาให้ความสำคัญของการเรียนรู้ พระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาและส่งเสริมให้เรียนรู้ตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่รอจนแก่เฒ่า เพื่อจะได้นำคำสอนนั้นมาใช้ในการดำรงชีวิต

ภาษิตหลายบทชี้ให้เห็นประโยชน์ของการตื่นแต่เช้า และยังสอนโดยอ้อม ให้เห็นข้อดีของการทำงานอย่างไม่ล่าช้ารีรอโดยยกเอาเรื่องของการตื่นเช้า ตื่นสายมาแสดง ซึ่งคนล้านนาเห็นว่าการตื่นเช้าจะช่วยให้เรามีเวลาทำงานได้มาก ทำให้เจริญก้าวหน้าได้มีตำแหน่งสูง ดังภาษิตว่า

ลุกเช้าเป็นขุน ลุกลูนเป็นข้า [ลุกเจ้าเป็นขุน ลุกลูนเป็นข้า] แปลว่า ตื่นแต่เช้าได้เป็นขุน ตื่นทีหลังเป็นขี้ข้า กล่าวคือคนที่กระตือรือร้นตื่นขึ้นทำงาน แต่เช้า จะได้เป็นเจ้าคนนายคน ส่วนคนที่ตื่นสายเป็นคนขี้เกียจ จะต้องเป็นขี้ข้าเขา และชี้ให้เห็นประโยชน์ของการตื่นเช้าว่า

ลุกเข้าได้กินผักยอดปลาย ลุกขวายได้กินผักยอดเค้า [ลุกเจ้า ได้กินผักยอดป่าย ลุกขวายได้กินผักยอดเก๊า] แปลว่า ตื่นเช้าได้กินยอดผัก ตื่นสายได้กินผักยอดแก่ หมายถึง คนที่ตื่นแต่เช้าจะได้เก็บยอดอ่อนของผักมาประกอบอาหาร แต่คนที่ตื่นสายก็จะเก็บได้แต่ยอดแก่หรือส่วนที่เหลือจากที่คนตื่นเช้าเก็บไปหมดแล้ว วิถีชีวิตของคนล้านนาสมัยก่อน จะเก็บผักพื้นบ้าน เช่น ชะอม ตำลึง มาประกอบอาหาร ดังนั้นคนที่ตื่นนอนมาเก็บผักก่อนย่อมได้ผักส่วนที่เป็นยอดอ่อน ขณะที่คนตื่นสายจะได้เก็บแต่ส่วนที่เหลือซึ่งเป็นใบแก่ แข็งและเหนียว ภาษิตนี้สอนว่า คนที่ทำการงานใดอย่างไม่ล่าช้ารีรอก็จะมีโอกาสดีกว่าคนอื่น

ลุก หมายถึง ตื่นนอน

ขวาย แปลว่า สาย

เค้า [เก๊า] หมายถึง โคน, ต้น

ภาษิตว่า ลุกขวายซ้ำนอนวัน เยียะหยังบ่ทันแล้ว [ลุกขวายซ้ำนอนวัน เญียะหยังบ่ตันแล้ว] แปลว่า ตื่นสายซ้ำนอนแต่หัวค่ำ ทำอะไรไม่ทันเสร็จ หมายถึง คนที่ตื่นสายซ้ำยังเข้านอนเร็ว ก็จะไม่มีเวลาที่จะทำการงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้

นอนวัน หมายถึง นอนแต่หัวค่ำ

เยียะ [เญียะ] แปลว่า ทำ

หยัง แปลว่า อะไร

และภาษิตว่า ลุกเช้าหื้อจักตอกเป็นสาย ค่ำมาผายมีเชือกป่าน [ลุกเจ้า หื้อจั๊กตอกเป่นสาย ค่ำมาผายมีเชือกป่าน] แปลว่า ตื่นเช้าให้จักตอกเป็นเส้น ค่ำมาก็ให้ทำเชือกป่าน หมายถึง ตื่นเช้ามาก็ให้จักตอก เวลาค่ำก็ให้ขยับขยายมาทำเชือกป่านเก็บไว้ใช้งาน ภาษิตนี้สอนว่า ให้ขยันขันแข็งทำงานตลอดเวลา ผาย แปลว่า ผันผาย, เคลื่อนย้าย, เปลี่ยนมา, ขยับขยาย

(นายศิริสาร เหมือนโพธิ์ทอง)