ภาษิตที่มีที่มาจากการขับร้องและฟ้อนรำ
ซอ ถ้าใช้เป็นคำกริยาหมายถึง ขับร้อง ถ้าเป็นคำนาม หมายถึง การแสดงที่ช่างซอขับร้องโต้ตอบกัน ผู้ขับร้องเป็นอาชีพเรียกว่า ช่างซอ ตรงกับ พ่อเพลงแม่เพลง ของภาคกลาง ซอ หรือ ขับซอ เป็นที่นิยมชมชอบของชาวล้านนาเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการแสดงที่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้ชมผู้ฟัง โอกาสที่มักจะจัดให้มีซอ ได้แก่ ประเพณีทำบุญต่าง ๆ เช่น ปอยหลวง ซึ่งหมายถึง งานฉลองศาสนสถานที่สร้างใหม่ หรืองานประจำปีของวัด ปอยน้อย หมายถึง งานบวช นอกจากนี้ยังนิยมมีซอในการทำบุญขึ้นบ้านใหม่
เครื่องดนตรีประกอบการซอ ได้แก่ ปี่ ที่นิยมใช้กันก็คือ ปี่จุม ๓ [ปี่จุม ๓] ซึ่งประกอบด้วยปี่ ๓ ขนาด เรียกตามลำดับจากปี่ขนาดใหญ่ไปหาขนาดเล็กว่า ปี่แม่ ปี่กลาง และ ปี่ก้อย เมื่อจะซอช่างปี่จะต้องเป่านำก่อนแล้วช่างซอจึงจะขับซอโดยมีเสียงปี่คลอไป มีภาษิตอันเกิดจากวงซอคือ
บ่ดีหลวักก่อนหมอ บ่ดีซอก่อนปี่ [บ่ดีหลวักก่อนหมอ บ่ดีซอก่อนปี่] หรือ จะไปหลวักก่อนหมอ จะไปซอก่อนปี่ [จะไปหลวักก่อนหมอ จะไปซอก่อนปี่] แปลว่า อย่าอวดฉลาดก่อนหมอยา อย่าขับซอก่อนเสียงปี่ ภาษิตนี้สอนว่า อย่าอวดฉลาด อวดรู้ ลงมือทำการข้ามหน้าผู้ที่มีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ หรือทำการลัดขั้นตอน
บ่ดี แปลว่า อย่า ไม่ควร
หลวัก แปลว่า ฉลาด
หมอ แปลว่า หมอยา, หมอรักษาโรค
จะไป แปลว่า อย่า
ซอบ่จ้าง ตี้จ้างปี่ [ซอบ่จ้าง ตี้จ้างปี่] แปลว่า ขับซอไม่เป็น ติช่างปี่ โดยทั่วไปแล้วในการซอจะมีการฟ้อนรำด้วย ช่างซอที่รักอาชีพนี้จะมีความมุ่งมั่น อดทนเพื่อฝึกฝนขับซอและฟ้อนรำ ช่างซอ ช่างฟ้อนที่ไม่มีความสามารถมักจะป้ายความผิดไปให้ผู้อื่น ภาษิตนี้มีความหมายเช่นเดียวกับภาษิตอีกบทหนึ่งว่า
ฟ้อนบ่จ้าง ติแผ่นดิน [ฟ้อนบ่จ้าง ติแผ่นดิน] หรือ ฟ้อนบ่จ้าง ตี๋แผ่นดินบ่อเปียง [ฟ้อนบ่จ้าง ตี๋แผ่นดินบ่อเปียง] แปลว่า รำไม่เป็น ติแผ่นดิน หรือ รำไม่เป็น ติว่าพื้นดินไม่เรียบไม่เสมอกัน ภาษิตข้างต้น ใช้เปรียบเทียบคนที่ไม่ยอมรับความผิดพลาดของตน มักโทษผู้อื่น ตรงกับสำนวนภาคกลางว่า รำไม่ดี โทษปี่โทษกลอง
มีภาษิตบทหนึ่ง ใช้เป็นคำค่อนแคะ ซึ่งช่างซออาจไม่พึงใจคือ
จ้างซอขี้ขอ ป้อหมอขี้อู้ [จ้างซอขี้ขอ ป้อหมอขี้อู้] แปลว่า ช่างซอขี้ขอ พ่อหมอช่างพูด หมายความว่า ช่างซอมักชอบขอเงิน ขอรางวัลจากผู้ฟัง ส่วนหมอยามักช่างพูดพรรณนาสรรพคุณของยาและพูดให้กำลังใจคนไข้ ในอดีต อาชีพช่างซอมักได้ค่าตอบแทนน้อย บางงานก็เป็นการไป ฮอมปอย คือไปช่วยงานเอาบุญโดยไม่มีค่าจ้าง ผู้ฟังที่พอใจในความสามารถของช่างซอก็มักตกรางวัลเป็นพิเศษ ปกติในการซอ เจ้าภาพปลูก ผามซอ คือ ปะรำ หรือเวทีเล็ก ๆ ยกพื้นสูงเพื่อแสดงซอ เมื่อใกล้จะเลิกซอ ซึ่งเรียกว่า ลาผาม ช่างซอจะซอเป็นการกล่าวลาและเว้าวอนขอน้ำใจจากผู้ฟัง เช่น ขอเศษเงินเพื่อเอาไปเป็นขวัญถุง บางครั้งในการขอ ช่างซอก็เอ่ยชื่อผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของงาน ซึ่งไม่รีรอที่จะตกรางวัลให้
ภาษิตข้างต้นอาจมีที่มาจากการซอเก็บนกด้วย ซอเก็บนกนี้มักจะเป็น การซอตอนก่อนจะลาผาม ซึ่งช่างซอชายหญิงจะแสดงเป็นสามีภรรยา ชวนกันเข้าป่าเพื่อหาอาหาร ครั้นพบนายอ่ายหรือนายด่านก็ขออนุญาตเข้าป่า และมีการซอชมนกและดักนก ในตอนท้ายของการซอ ช่างซอจะนำนกตัวเล็ก ๆ ที่สานด้วยใบมะพร้าวห้อยอยู่ปลายก้านมะพร้าวออกมาขายให้ผู้ฟัง ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดมีคำกล่าวว่า
ช่างซอขี้ขอ พ่อหมอขี้อู้ [จ้างซอขี้ขอ ป้อหมอขี้อู้] อันเป็นการ บอกบุคลิกลักษณะของช่างซอ และหมอยาแห่งสังคมล้านนาในอดีต
เนื้อหาที่ซอ อาจจะมาจากนิทานชาดก คติธรรมคำสอน เรื่องราวในชีวิต ประจำวัน การตัดพ้อต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการเกี้ยวพาราสีหยอกล้อกันซึ่ง มีเนื้อหาและภาษาค่อนข้างโลดโผน ล่อแหลม จึงมีคำสอนว่า
น้อยบ่ดีเป็นปู่จารย์/อาจารย์ หนานบ่ดีเป็นช่างซอ [น้อยบ่อดี เป็นปู่จ้าน/อาจ้าน หนานบ่อดีเป็นจ้างซอ]
น้อย เป็นคำเรียกผู้ที่ลาสิกขาขณะเป็นสามเณร
ปู่จารย์ [ปู่จ้าน] หรือ อาจารย์ [อาจ้าน] แปลว่า มัคนายก
หนาน เป็นคำเรียกผู้ที่ลาสิกขาขณะเป็นภิกษุ ตรงกับที่ภาคกลาง เรียกว่า ทิด
ภาษิตนี้หมายความว่า ผู้ที่สึกจากสามเณรไม่ควรเป็นมัคนายก เพราะ ยังมีความรู้น้อย ไม่อาจเป็นผู้นำทางพุทธศาสนพิธีได้ ส่วนผู้ที่เคยเป็นภิกษุมาแล้ว มีความรู้ด้านพุทธศาสนามากกว่าใคร ไม่ควรมาทำหน้าที่เป็นช่างซอ เพราะบางครั้ง บางงานก็ต้องขับซอที่มีเนื้อหาและภาษาสองแง่สองง่าม แบบที่ชาวล้านนา เรียกว่า คำใต้ซิ่นใต้ผ้า [กำไต้สิ้นไต้ผ้า] ทำให้เสื่อมราศี และเสื่อมความ นับถือจากชาวบ้าน ดังนั้น คำสอนว่า น้อยบ่ดีเป็นปู่จารย์/อาจารย์ หนานบ่ดี เป็นช่างซอ [น้อยบ่อดีเป๋นปู่จ้าน/อาจาน หนานบ่อดีเป่นจ้างซอ] จึงเป็นการ เตือนสติคนทั่วไปในเรื่องการวางตัวให้เหมาะสมแก่ฐานะทางสังคมและบุคลิก ของตน
ปัจจุบันมีคณะซอเกิดขึ้นแทบทุกจังหวัดในล้านนาและรับซอในงาน ต่าง ๆ ทั่วไป ชี้ให้เห็นถึงความนิยมในศิลปะการแสดงประเภทนี้ ภาษิตที่เกิดจาก อาชีพช่างซอก็ยังมีการนำมาใช้และเป็นที่เข้าใจกันทั่วไป
(รศ.เรณู วิชาศิลป์)