ผญาคำสอน : ให้รู้จักพอเพียง
ผญาที่ว่า เพิ่นว่ากำขี้ไว้ ยังสิโคกว่ากำตด [เพิ่นว่ากำขี่ไว้ ยังซิไคกั่ว กำตด] แปลว่า เขาว่ากำขี้ไว้ ยังดีกว่ากำตด ตรงกับสำนวนภาคกลางว่า กำขี้ ดีกว่ากำตด หมายถึง ได้บ้างดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
เพิ่น ในที่นี้เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓ หมายถึง ผู้ที่ถูกกล่าวถึง เช่น ท่าน, เขา
ไค แปลว่า ดี, ดีขึ้น, ค่อยยังชั่ว ไคกว่า (ไคกั่ว) ในที่นี้หมายถึง ดีกว่า
ผญาที่ว่า กำปลาหลดขี้ตมควาย ไคกว่ากำปลาค้าว [กำปาหลดขี่ ตมด้วย ไคกั่วกำปาค่าว] แปลว่า จับปลาหลดในขี้ตมควายได้ ดีกว่าจับปลาค้าว เนื่องจากปลาหลดจับด้วยมือได้ง่ายเพราะชอบอยู่ในขี้ตมควาย ส่วนปลาค้าว จับด้วยมือไม่ได้ ต้องใช้อุปกรณ์จับปลา เพราะตัวใหญ่อยู่ในน้ำลึก
กำ ในที่นี้หมายถึง จับ
ขี้ตมควาย [ขี่ตมด้วย] หมายถึง โคลนที่ผสมกับขี้ควายตาม แหล่งน้ำที่แห้งขอด
ดังนั้นผญาที่ว่า
เป็นคำสอนเตือนใจลูกหลานชาวอีสานว่า การแสวงหาทรัพย์สินเงินทองโชคลาภ ใด ๆ ก็ตาม หากได้ทรัพย์สินแล้ว แม้จะได้เพียงเล็กน้อยก็ให้เอาไว้ก่อน อย่าปล่อย ให้หลุดมือไป อย่าหวังแต่ทรัพย์สินเงินทองโชคลาภก้อนใหญ่ ๆ ที่ยังมาไม่ถึง หรือที่ยังทำไม่ได้ ตรงกับสำนวนภาษากรุงเทพว่า โลภมากลาภหาย
(นายนิรันดร์ บุญจิต)