ผญาคำสอน : วิถีทางของคนดีและคนชั่ว

ทางคนละเส้น ตาเว็นคนละหน่วย [ทางคนละเส้น ตาเว็นคนละหน่วย] ผญาที่ว่า ทางคนละเส้น [ทางคนละเส้น] แปลว่า เส้นทางคนละเส้น เป็นปริศนาธรรม สอนให้เห็นวิถีชีวิตของผู้คน หมายถึง คนที่ประพฤติตนดี อยู่ในศีลธรรม ไม่ว่าจะเดินไปในทิศทางใดก็ตาม มักจะพบคนที่ประพฤติดี คิดดีทำดีเหมือนกัน พูดคุยสนทนาปราศรัยกันด้วยเรื่องราวที่ดี มีประโยชน์ อยู่บนเส้นทางเดียวกัน ส่วนคนที่ประพฤติตนไม่ดี ไม่เข้าวัดฟังธรรม ก็มักจะ ไปพบกับคนที่มีลักษณะเหมือน ๆ กัน วิถีชีวิตจะแบ่งคนดีและคนไม่ดีออกจาก กัน คือคนดีไปตามทางของคนดี ส่วนคนไม่ดีก็จะมีวิถีชีวิตตรงกันข้ามกับคนดี ผญาที่ว่า ตาเว็นคนละหน่วย แปลว่า ดวงอาทิตย์คนละดวง หมายถึง คนดีมักเดินทางและปฏิบัติตนถูกต้องตามครรลองคลองธรรม เริ่มตั้งแต่ ดวงอาทิตย์ขึ้นจนดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เพราะไม่ต้องหลบซ่อนใคร ส่วน คนไม่ดี มักเดินทางและปฏิบัติตนยามปลอดคน ในเวลาที่ดวงอาทิตย์อับแสง และมีแต่แสงไฟ แสงดาว แสงเดือน เพื่อกระทำการที่ผิดไปจากคนดี

ตาเว็น แปลว่า ตะวันหรือดวงอาทิตย์ หน่วย เป็นลักษณนามของดวงอาทิตย์ ภาษาไทยกรุงเทพเรียกว่า ดวง

ดังนั้นผญาที่ว่า ทางคนละเส้น ตาเว็นคนละหน่วย [ทางคนละเส้น ตาเว็นคนละหน่วย] จึงหมายถึง การเดินทางของคนดีและคนไม่ดีว่าจะไม่เดินเส้นทางเดียวกัน เปรียบเสมือนมีดวงตะวันคนละดวงนั่นเอง นอกจากนี้ ทางคนละเส้น ตาเว็นคนละหน่วย [ทางคนละเส้น ตาเว็นคนละหน่วย] ยังนำไปใช้พูดตามความเชื่อของชาวอีสานโบราณเกี่ยวกับการเสียชีวิตของคนในครอบครัว หากนำศพไปฝังหรือเผาที่ป่าช้า ซึ่งคนอีสานเรียก ป่าเร่ว [ป่าเฮ่ว] ก่อนจะเดินทางกลับบ้าน มักจะพูดว่า บาดนี้เราต้องไปทางคนละเส้น ตาเว็นคนละหน่วยเด้อ บ่ต้องมาผ้อกันอีก ให้เจ้าไปดีเด้อ [บาดนี่เฮาต้องไปทางคนละเส้น ตาเว็นคนละหน่วยเด้อ บ่อต้องมาผ้อกันอีก ให้เจ้าไปดีเด้อ] แปลว่า บัดนี้เราต้องเดินทางกันคนละเส้น และมีตะวันคนละดวง เพราะอยู่กันคนละโลกแล้ว ไม่ต้องมาพบกันอีก ขอให้ไปดีนะ

(นางพจนีย์ เพ็งเปลี่ยน)