ตักบาตรเทโว
การบำเพ็ญกุศลในวันเช่นนี้ ท่านจัดเป็นกาลทานคือมีปีละครั้งเป็น ประเพณีสืบมา และในวันเช่นนี้ ถือกันว่า เป็นวันคล้ายกับวันที่พระ พุทธองค์เสด็จลงจากเทวโลก ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อก่อน พ.ศ. ๘๐ พระพุทธองค์เสด็จไปจำพรรษาโปรดพระพุทธมารดาในดาวดึงส์ แล้วเสด็จลง จากดาวดึงส์ในวันออกพรรษานี้ จึงเป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนอีกอย่าง หนึ่ง คือ เมื่อถึงวันเช่นนี้ก็เตรียมจัดอาหารไปใส่บาตร เรียกว่า "ตักบาตร- เทโว" เรียกเต็มว่า "เทโวโรหนะ" แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก การตักบาตรเทโวนี้ บางวัดก็ทำในวันกลางเดือน ๑๑ บางวัดก็ทำในวันแรม ค่ำหนึ่งเดือน ๑ ทั้งนี้สุดแต่ความร่วมใจกัน พิธีทำนั้น ได้อัญเชิญพระพุทธรูป ประดิษฐานบนล้อเลื่อน มีบุษบก และมีบาตรวางอยู่หน้าพระพุทธรูป มีคน ลากนำหน้าพระสงฆ์ พวกทายกทายิกาต่างก็นั่งเรียงรายกันอยู่เป็นแถว ๆ แล้วใส่บาตร อาหารที่ใส่ในวันนั้นมี ข้าว กับ และข้าวต้มมัด ข้าวต้ม ลูกโยนเป็นพื้น โดยมากทำพิธีกันในบริเวณพระอุโบสถ แต่บางแห่งเขาทำ พิธีเหมือนกับพระพุทธองค์เสด็จลงจากเทวโลกจริง ๆ เช่นที่เมืองอุทัยธานี อัญเชิญพระรูปลงจากเขาและมีพระสงฆ์ตาม ประชาชนรอใส่บาตรที่เชิงเขา วัดที่เชิงเขานั้นเรียกว่า "วัดสังกัส" เข้าใจว่าตั้งชื่อวัดให้ใกล้ความจริงกับ เรื่องที่พระพุทธองค์เมื่อเสด็จลงมาจากเทวโลกก็เสด็จประทับที่เมืองสังกัสนคร ในกรุงเทพฯ ก็มีทำกันที่วัดสระเกศโดยอัญเชิญพระพุทธรูปนำหน้า พระสงฆ์ ลงจากภูเขาทอง แล้วทายกทายิกาก็ตั้งแถวกันใส่บาตรที่เชิงเขา ทำดังนั้น เพื่อให้ใกล้ความจริง ประเพณีตักบาตรเทโวนี้ ทำกันอย่างมโหฬารในหมู่ พุทธศาสนิกชนเพราะเป็นเหตุให้เกิดรำลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในครั้งกระโน้น แล้วเกิดปีติปราโมทย์ขึ้น ในบัดนี้ประเพณีบำเพ็ญกุศลอัน เนื่องด้วยการออกพรรษายังมีอยู่อีก ซึ่งจัดเป็นกุศลประจำปี คือการทอด- กฐินและการถวายผ้าจำนำพรรษา
ยังมีราชพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในการออกพรรษา ซึ่งพระมหากษัตริย์ได้ ทรงบำเพ็ญเป็นกิจประจำปี คือนิมนต์พระบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง เรียกว่า "บิณฑบาตเวร" ๓ วัน คือ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ วันละ ๑๕๐ รูป พระมหากษัตริย์ทรงบาตรด้วยพระองค์เองพร้อม ด้วยเจ้านายฝ่ายใน เป็นราชพิธี มีมาทุกวันนี้ นอกจากนี้ก็มีราชประเพณี สวดมหาชาติคำหลวง ซึ่งได้จัดให้สวดในวันเข้าพรรษา ๓ วัน กลางพรรษา ๓ วัน และออกพรรษา ๓ วัน ประเพณีการสวดมหาชาติคำหลวงหรือที่เรียก ว่า "สวดโอ้เอ้วิหารราย" ได้มีมานานแล้ว ตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงวินิจฉัยว่า เกิดขึ้นครั้งพระเจ้าทรงธรรม คือพระเจ้าทรงธรรมทรงพระ- ราชดำริให้จัดประเพณี การอ่านหนังสือสวดให้เป็นประโยชน์แก่สัปปุรุษเป็น ต้นว่าให้มีพนักงานอ่านประจำวิหารหรือศาลารายในพระอารามหลวง สำหรับ สัปปุรุษจะได้ไปฟัง ประเพณีการสวดประจำวิหารหรือศาลาซึ่งพระเจ้า- ทรงธรรมทรงดำริขึ้น ยังมีอยู่จนบัดนี้เฉพาะที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และมีพวกเด็กนักเรียนสวดชาดกเรื่องอื่น ๆ ตามศาลาราย
มหาชาติคำหลวงเป็นหนังสือ ว่าด้วยชาดกอันเป็นกำเนิดของพระ- พุทธเจ้าเมื่อครั้งพระชาติเป็นพระเวสสันดร แต่งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จ พระบรมไตรโลกนาถ เป็นเวลา ๔๐๐ ปีเศษมาแล้ว จึงมีถ้อยคำที่ทั้งยาก ๆ อยู่มาก เหตุที่แต่งนั้นก็เพราะถือกันว่า ถ้าผู้ใดฟังคาถามหาชาติครบพันคาถา ที่เรียกว่า "คาถาพัน" (มีคาถา ๑,๐๐๐ คาถาพอดี) ย่อมจะได้รับอานิสงส์มาก และจะได้เกิดทันพระศรีอาริย์ด้วย แต่คาถานั้นผู้ฟัง ๆ ไม่รู้เรื่อง จึงได้ทรง คิดแต่งให้มีคำแปลคาถาได้ด้วยเพื่อจะได้ฟังรู้เรื่อง การแต่งนั้นมีรับสั่งให้ ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตในกรุงศรีอยุธยาแต่ง วิธีแต่งเอาภาษามคธตั้ง บาทหนึ่งแล้วแปลแต่งเป็นภาษาไทยวรรคหนึ่งสลับกันไป บางแห่งแต่งเป็น ฉันท์บ้าง เป็นร่ายบ้าง เป็นกาพย์บ้าง ตามความถนัดของผู้แต่ง และเมื่อ แต่งจบบทหนึ่งก็มีประโคมครั้งหนึ่ง ดังนี้จนครบ ๑๓ กัณฑ์ หนังสือเรื่อง นั้นนับถือกันว่าแต่งดีเลิศมาแต่ครั้งกรุงเก่า ไม่ได้แต่งสำหรับเทศน์เหมือน อย่างมหาชาติกลอนเทศน์ที่ใช้เทศน์อยู่ในเวลานี้ แต่งสำหรับสวดมีทำนอง- น่าฟังมาก เข้าใจว่าพระเจ้าทรงธรรมทำแบบทำนองขึ้นไว้เรียกว่าทำนองกะ คือสวดเป็นทำนองตามที่กำหนดไว้เป็นเสียงสูง เสียงต่ำ เสียงเอื้อน การสวดนั้น สวด ๓ วัน วันละ ๔ คน เป็นสำรับหนึ่ง ผู้สวดขึ้นนั่งเตียงสวดในพระอุโบสถ สวดถวายเวลาเสด็จไปบำเพ็ญพระราชกุศล ราชประเพณีอันนี้ได้มีมาทุกปี