เงื่อนไขคุณธรรม (ไม่เบียดเบียน / เมตตา)

... "อุดมคติ" นั้น ก็คือมโนภาพหรือความนึกคิดถึงความดี ความงามอันเลอเลิศในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งถ้าเป็นไปตามมโนภาพนั้นแล้ว ก็จะจัดว่าเป็นของที่ดีงามเลิศด้วยประการทั้งปวง กล่าวโดยทั่วไป มนุษย์เราย่อมปรารถนาจะประสบแต่สิ่งที่ดีงามเจริญตาเจริญใจ จึงควรจะได้มีอุดมคติด้วยกันทั้งนั้น แต่หากควรเป็นไปในทางไม่ก่อ ความเบียดเบียนแก่ผู้อื่น โดยเพ่งเล็งถึงประโยชน์สุขของผู้อื่นหรือ ส่วนรวมด้วย…"

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๐)


...ความสำเร็จประสงค์ในอุดมการณ์รวมเรียกว่า ประโยชน์ ประโยชน์ทั้งปวงนี้ ทุกคนต่างควรมีเสรีภาพที่จะแสวงหาและที่จะได้รับ แต่การแสวงหาและรับเอาประโยชน์นั้น จำต้องมีหลักการสำหรับปฏิบัติ เพื่อป้องกันกำจัดเหตุที่จะนำไปสู่ความยุ่งยากและความเสียหายทั้งมวล บุคคลจำต้องเรียนรู้และสำนึกไว้เสมอว่า เสรีภาพของแต่ละคนจำกัด อยู่ด้วยเสรีภาพของผู้อื่น การแสวงหาประโยชน์ใด ๆ ถ้าละเมิดและ ก้าวก่ายกัน จะกลายเป็นการเบียดเบียนซึ่งมีอันตรายมาก.."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๑๗)


"...ถ้ามีความคิดอย่างนี้ว่า คนอื่นเขาก็สร้างเหมือนกัน คนอื่นเขา ก็ทำเหมือนกัน แล้วก็เมตตาซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รู้จักรักกัน รู้จักว่าตรงไหนเป็นความดี และนึกถึงว่าประเทศไทยของเรา เต็มไปด้วยความดี ประเทศไทยของเราจะมีความมั่นคงและพวกเรา ในที่สุดก็มี ความสุข ความสบาย มีเกียรติ สามารถมีชีวิตที่รุ่งเรื่อง..."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๑๙)


....หน้าที่ของแต่ละคนแต่ละคนก็มีและมีความสามารถแตกต่างกัน จะต้องอาศัยผู้อื่นในสิ่งที่เราไม่แตกฉาน เราไม่ชำนาญ ฉะนั้น แต่ละคน ย่อมต้องอาศัยคนอื่น ถ้าแต่ละคนอาศัยคนอื่นได้ก็เป็นบุญของแต่ละคน เพื่อที่จะให้อาศัยกันได้ ก็ต้องเมตตาซึ่งกันและกัน ถ้าเมตตาซึ่งกัน และกันแล้ว สิ่งที่เราต้องการก็ได้มาแล้ว คือความเอ็นดูของผู้อื่น เราเมตตาเขา เขาก็เมตตาเรา..."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๑๙)


"...ในประเทศชาติ ถ้ากัดกันมาก เกินไป เคย เคยบอก เคยพูดว่า คนกัดกัน คนบอกว่าทารุณพูดอย่างนี้ พูดหนักเกินไป ความจริง หมามันกัดกัน แต่คนก็กัดเหมือนกัน ก็เลยที่เคยบอก คนกัดกันนี่ คนที่มาฟังบอกว่า พูดหยาบคาย ที่จริงมันไม่ได้หยาบคาย ทะเลาะกัน หยาบคายกว่ากัดกัน พอกัดกันแล้ว ทะเลาะมันหยาบคาย กัดกันมัน ตรงไปตรงมา ก็กัดกันอย่าง ไม่รุนแรงเกินไป แต่ว่าในที่สุดก็เข้าใจกัน ก็มีความสุข มีความสงบ ไม่แก่ตัวนะ เอ๊ะ กี่ปีแล้วที่พูดมา ไม่ทราบใคร จำได้ แต่ว่ายังไงก็ตาม ที่พูดถึงกลัวเวลาพูด หลุดปากออกไป หลุดปาก ออกไปว่า เดี๋ยวจะหาว่า หยาบคาย เดี๋ยวหาว่าพูดแรงเกินไป เดี๋ยวหาว่า พูดปิด ถ้าฟังแล้ว มีความสุข แล้วก็มาให้พร เราก็ให้พรกับทุกท่านที่อยู่ ที่นี้ว่า ให้มีความสงบ ความสุข ความเจริญ ความพอใจ พอใจ อย่างที่รู้ว่า คนอื่นเขาพอใจด้วย เหมือนกัน ไม่ใช่พอใจ แล้วคนอื่นไม่พอใจ ขอต่อ ขอติงไว้ว่า ทำให้ตัวเอง มีความพอใจ โดยที่ให้คนอื่นเขาเสีย คนอื่น เขาไม่พอใจ คนอื่น เขา เขาเสียใจอันนี้ไม่ดี ไม่ให้พร ถ้ามีความพอใจ แล้วก็สามารถ ให้คนอื่นมีความพอใจ อันนี้ดีให้พร แล้วก็ขอ คงพอแล้ว ก็ขอให้พร..."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๓)