เงื่อนไขคุณธรรม (สติ / ปัญญา)

"...ทุกคนจำเป็นต้องหมั่นใช้ปัญญาพิจารณาการกระทำของตน ให้รอบคอบอยู่เสมอ ระมัดระวังทำการทุกอย่างด้วยเหตุผล ด้วยความ มีสติ และด้วยความรู้ตัว เพื่อเอาชนะความชั่วร้ายทั้งมวลให้ได้ โดยตลอด และสามารถก้าวไปถึงความสำเร็จที่แท้จริง ทั้งในการงานและ การครองชีวิต..."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : ๔ สิงหาคม ๒๕๑๔)


".. ผู้ที่ทราบตระหนักว่าตนศึกษาเพื่ออะไร แล้วนำความรู้ความคิด และความชำนาญไปปฏิบัติให้ถูกจุดประสงค์ที่แท้จริงโดยเต็มความ สามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อการสร้างสรรค์เท่านั้น จึงจะหวังได้ว่า จะสามารถสร้างความเจริญผาสุกและความวัฒนาถาวรในชาติให้เกิดมี ขึ้นได้โดยสมบูรณ์ ทุกคนจึงควรจะได้ศึกษา และปฏิบัติการทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยสติปัญญาและด้วยความรู้ตัว ระวังตัวโดยสม่ำเสมอทุกเวลา..."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล : ๒๔ กันยายน ๒๕๑๘)


"...ความบังคับตนเองนั้นเกิดขึ้นได้จากความรู้สึกระลึกได้ว่าอะไร เป็นอะไร หรือเรียกสั้นๆ ว่า "สติ" กล่าวคือ ก่อนที่บุคคลจะทำ จะพูดหรือ แม้แต่จะคิดเรื่องต่างๆ สติหรือความรู้สึกระลึกได้นั้นจะทำให้หยุดคิดว่า สิ่งที่จะทำนั้นผิดชอบชั่วดีอย่างไร จะมีผลเสียหายหรือจะเป็นประโยชน์ อย่างไรต่อไปในระยะยาว เมื่อบุคคลคิดได้ ก็สามารถตัดสินการกระทำ ของตนได้ถูกต้อง แล้วก็จะกระทำแต่เฉพาะสิ่งที่สุจริตที่มีประโยชน์ อันยั่งยืน ไม่กระทำสิ่งที่จะเป็นความผิดเสียหายทั้งแก่ตนและส่วนรวม ความมีสตินั้น จะช่วยให้สามารถศึกษาทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างละเอียด ประณีต คือเมื่อจะศึกษาสิ่งใด ก็จะพิจารณากลั่นกรองสิ่งที่มิใช่ความ ถูกต้องแท้จริงออกเสียก่อน เพื่อให้ได้มาแต่เนื้อแท้ที่ปราศจากโทษ บัณฑิตทั้งปวงผู้หวังความมั่นคงปลอดภัยทั้งของตนของชาติบ้านเมือง เมื่อจะทำการงานใดๆ ที่สำคัญ ควรอย่างยิ่งที่จะหยุดคิดสักหน่อยก่อน ทุกครั้งแล้วท่านจะไม่ต้องประสบกับความผิดหวังและผิดพลาดในชีวิต.."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง : ๗ กรกฎาคม ๒๕๒๐)


"...การสร้างความสำเร็จในกิจการงานทุกอย่าง ทุกระดับ รวมทั้ง ความสำเร็จในชีวิตของแต่ละคนด้วยนั้น ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ ประกอบกันถึงสามส่วน ส่วนที่หนึ่ง คือ ความรู้และความชำนาญทาง วิชาการ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานหรือเป็นเครื่องมือปฏิบัติงานแท้ๆ ส่วนที่สอง คือความละเอียดถี่ถ้วน ความตั้งใจ และความอุตสาหะพยายาม ซึ่งเป็น เครื่องช่วยให้ทำการได้ไม่ผิดพลาดบกพร่องและสำเร็จลุล่วงได้ตลอด ไม่ทิ้งขว้างละวางเสียกลางคัน ส่วนที่สามนั้น ได้แก่สติ ระลึกรู้ตัว และ ปัญญาความรู้ชัด หรือความเฉลียวฉลาดที่จะหยุดคิดพิจารณากิจที่จะทำ คำที่จะพูดทุกอย่าง ให้เป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงตรงตามกระบวนการของ เหตุผล ซึ่งจะช่วยให้ดำเนินชีวิตและการงานไปในทางเจริญ..."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง : ๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๐)


"...การทำอะไร ถ้าคนเราถือว่าต้องมีสติคือ...รู้ว่าทำอะไร คิดอะไร และไม่ปล่อยให้ผิดออกมา...การผิดโดยรู้ไม่ดี แต่บางที่ไม่รู้เพราะว่าไม่มี ขอโทษนะ พูดไม่มีสติ ขาดสติ คือ ไม่ระวังตัว ที่หลังเสียใจ..."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘)