เงื่อนไขคุณธรรม (ความเพียร / พากเพียร / อดทน)

"...ก่อนที่แต่ละคนจะออกไปประกอบการงาน ดำเนินชีวิตต่อไป ใคร่ขอให้คิดไตร่ตรองให้เข้าใจโดยแจ้งชัดว่า การที่ศึกษาสำเร็จได้นี้ ตัวท่านเองต้องพากเพียรบากบั่นอย่างหนักยิ่งมาโดยตลอด ทั้งได้อาศัย ครูอาจารย์ สถานศึกษาและปัจจัยอื่นๆ อีกมาก ซึ่งนับว่าเป็นการช่วยเหลือ ที่ท่านได้รับจากผู้อื่น คือประชาชนเป็นส่วนรวม เมื่อได้บากบั่นสร้าง ความสำเร็จในการศึกษาด้วยตนเองมาได้ชั้นหนึ่งแล้ว ขอให้มุ่งมั่นสร้าง ความสำเร็จในชีวิตต่อไป อย่าให้เสียทีที่ได้ทำความเพียรพยายามมา ในส่วนที่ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากผู้อื่นนั้น ก็สมควรอย่างยิ่ง ที่จะได้ตอบแทน..."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : ๒๙ มกราคม ๒๕๑๓)


"...การทำงานอย่างให้มีคุณภาพ ให้ได้ผลบริบูรณ์ จะทำอย่างไร เบื้องต้น ต้องทำความเห็นให้ถูกต้องในงานที่จะทำเสียก่อน โดยใช้ ปัญญาไตร่ตรองให้เห็นเหตุที่แท้ ผลที่แท้ ที่ถูกต้องตรงตามเป้าหมายที่ พึงมุ่งหวัง แล้ววางแผนการอันแน่นอนที่จะดำเนินการต่อไป ด้วยหลักวิชา ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน และสำคัญที่สุด ต้องมีความพากเพียร ไม่ย่อหย่อน ในอันที่จะกระทำต่อไปจนกว่าจะเป็นผลสำเร็จ.."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๖)


...ความอดทนหรืออดกลั้นคือขันติ ซึ่งทุกคนรู้จักดีและมีอยู่ ในตัวแล้ว ขันตินั้นเมื่อนำมาใช้ในเรื่องการปฏิบัติงาน มองดูเผินๆ มักพาให้เห็นว่าเป็นเครื่องถ่วงความก้าวหน้า เพราะทำให้เกิดการหยุดชะงัก เป็นเหตุให้งานไม่สำเร็จ หรือสำเร็จช้าลง แต่ถ้าพิจารณาลึกลงไป ให้ถูกให้ถ้วนแล้ว จะไม่เป็นดังนั้นเลย ความรู้จักอดทนและอดกลั้น ไม่ยอมตัวยอมใจให้วู่วามไปตามเหตุการณ์ตามอคติและอารมณ์ที่ชอบใจ หรือไม่ชอบใจนั้น ทำให้เกิดมีการยั้งคิดและธรรมดาคนเรา เมื่อยั้งคิดได้แล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะพิจารณาเรื่องที่ทำคำที่พูด ทบทวน ดูใหม่ได้อีกคำรบหนึ่ง การพิจารณาทบทวนเรื่องใดๆ ใหม่ ย่อมจะช่วยให้ มองเห็นละเอียดชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจอันกระจ่างสว่างไสว..."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : ๑๔ กันยายน ๒๕๑๖)


"....การให้การศึกษาเป็นงานที่ละเอียด ซับซ้อน และกว้างขวางมาก จะต้องกระทำโดยอาศัยความรู้ ความสังเกตจดจำ และความฉลาด รอบคอบอย่างสูง ทั้งต้องอาศัยความเสียสละอดทน ความเพียร พยายาม ความสุจริต และความเมตตาอันกว้างขวางด้วยพร้อม จึงจะ สำเร็จผลที่พึงประสงค์ได้..."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม : ๒๕ มิถุนายน ๒๕๑๙)


"...คุณธรรมทั้งห้าประการนี้ พิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นว่าต่างก็ เป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องอาศัยกัน และเกื้อกูลส่งเสริมซึ่งกันและกันอยู่ ทั้งหมด เช่น ศรัทธาความเชื่อถือซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดความพากเพียร ขวนขวายนั้น จะต้องอาศัยความยั้งคิดและปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา วินิจฉัย ปัญญา ความรู้ชัด จะเกิดมีได้ก็ต้องอาศัยความตั้งใจเพ่งพินิจ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างเสริมคุณธรรมทุกๆ ข้อให้ครบ ให้เป็นฐาน อันแผ่กว้าง สำหรับรองรับการงานได้ทั่วถึงมั่นคง จึงจะสามารถทำงาน สำเร็จผลเลิศได้โดยสมบูรณ์บริบูรณ์ และเป็นประโยชน์ช่วยตัว ช่วยผู้อื่น และส่วนรวมได้ด้วย..."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง : ๑๓ ธันวาคม ๒๕๒๒)


"...ที่นายกฯ กล่าวว่าระยะนี้เป็นระยะที่วิกฤต ก็ต้องพิจารณาอยู่ เสมอว่า อะไรควรทำ อะไรควรเว้น. ที่ท่านเห็นอยู่บนเวทีนี้ คงแปลกใจ. อาจคิดว่าจะมาตีกลองยาวหรืออย่างไร....ปัญหามีอยู่ว่าผู้ที่ทำกลองนี้เขามี บริษัทที่นำเข้าสินค้าที่เขาขาย....เขาบอกว่าขาดทุน แต่เขามีความคิดอยู่ เขาสามารถที่จะผลิตกลองนี้ และส่งนอก .. ไม้ที่ใช้ทำกลองนี้ก็เป็นไม้ ที่มีในเมืองไทย...เป็นไม้ยางพารา....เขาลงไปภาคใต้ ไปซื้อไม้ยางมา ด้วยตนเอง แล้วนำมาทำกลองนี้....มีกลองแบบกลองยาว และมีกลอง แบบกลองเล็กๆ. ใช้ไม้ในเมืองไทย และหนังที่ขึงบนกลองนั้น ก็เป็น สิ่งที่ผลิตในเมืองไทยเหมือนกัน. ฉะนั้นสามารถที่จะทำให้มีการส่งออก สิ่งของที่ทำด้วยวัตถุดิบในเมืองไทย และทำด้วยแรงงานของคนไทย. อันนี้เป็นการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตอย่างดี. เป็นของเอกชนเขาทำเอง แต่เขาก็ต้องเหน็ดเหนื่อย เขาบอกว่าเหนื่อยมาก และจะเป็นโรคประสาท เพราะกลัวว่าจะทำไม่ทันส่ง. เมื่อส่งไปแล้ว เขาก็มาพบ และมามอบ ผลิตผลของเขาและบอกว่าสบายใจขึ้น อันนี้ก็เป็นวิธีแก้ไขวิกฤตการณ์ ที่เห็นเป็น ประจักษ์ว่าทำได้ แต่ต้องมีความเพียร ต้องมีความอดทน.... ความจริงวิกฤตการณ์นี้ เห็นได้มานานแล้ว สี่สิบกว่าปีมาแล้ว แต่ไม่รู้ตัว. เมื่อ๔๐ กว่าปีมีผู้หนึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยมาขอเงิน. ที่จริงก็ได้เคย ให้เงินเขาเล็ก ๆ น้อยๆ อยู่เรื่อยๆ เขาบอกไม่พอ. เขาก็ขอยืมเงินขอกู้เงิน. ก็บอกว่า เอ้า...ให้แต่ขอให้เขาทำบัญชี บัญชีรายรับ บัญชีรายจ่าย รายรับก็ คือเงินเดือนของเขา ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย และเงินที่อุดหนุนเขา ส่วนรายจ่ายก็เป็นของที่ใช้ในครอบครัว. ในการนี้ จะต้องมีการลงทุน สำหรับวิจัย ต้องมีการลงทุนสำหรับช่วยเกษตรกร. ดังนั้นเงินที่ยังเหลืออยู่ จะต้องนำไปสนับสนุนในทางนี้ส่วนหนึ่ง ก็จะได้ผลดี จะเป็นผลช่วยให้ ประเทศไทย รอดพ้นวิกฤตการณ์..."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐)