เงื่อนไขคุณธรรม (ประโยชน์ส่วนรวม / ประโยชน์ส่วนตัว / เสียสละ)

"...ในวงสังคมนั้นเล่า ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงามสำหรับ สุภาพชน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวม..."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๖)


...ฉะนั้นทุกคนที่ทำหน้าที่ตามอาชีพของตน หรือตามหน้าที่ของ ตนอย่างเต็มที่ อย่างเสียสละ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีนั้น ก็เป็น สิ่งที่สร้างเสริมความดีแก่ประเทศชาติในตัวอย่างที่สองคืองานที่ตนทำ นอกเหนือจากหน้าที่การงานที่มีอยู่ คืองานที่เอื้อเฟื้อคนอื่น งานที่จะ สร้างสรรค์คิดค้นอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ จะโดยตรง หรือโดยอ้อมนั้นก็เป็นสิ่งที่สมควรที่จะทำ ไม่ทำให้งานประจำนั้นเสียไป ตรงข้ามส่งเสริมให้งานประจำนั้นดีขึ้น ส่งเสริมให้อยู่ดีกินดีขึ้น และมี จิตใจที่มุ่งเพื่อประโยชน์ส่วนรวม จิตใจที่มุ่งเพื่อให้เกิดความสามัคคีขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่เท่ากับเป็นของขวัญ ที่นำมาให้อีกประการหนึ่ง.."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗)


...ใช่แล้ว เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพราะเหตุว่าประโยชน์ ส่วนรวมนี้ เป็นประโยชน์ส่วนตัว แต่ละคนต้องการให้ประโยชน์ ส่วนตัวสำเร็จ คือมีความพอใจนี้เอง แต่ว่าถ้าไม่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม ก็ไม่ได้ประโยชน์ส่วนตัว เพราะว่าถ้าส่วนรวมไม่ได้รับ ประโยชน์ส่วนตัว พังแน่ นีเป็นข้อสำคัญ ฉะนั้นความรู้สึกหรือข้อสังเกตอันนี้ เป็นจุด สำคัญมาก ที่จะต้องทำความเข้าใจกับตัวเอง ว่าประโยชน์ส่วนตัวนั้น คือประโยชน์ส่วนรวมหรือจะว่าประโยชน์ส่วนรวมนั้น คือประโยชน์ ส่วนตัว พูดได้ กลับได้บางคำกลับไม่ได้นะ แต่คำนี้กลับได้ ประโยชน์ ส่วนรวมคือประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ส่วนตัวคือประโยชน์ส่วนรวม อันนี้ก็เป็นข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง.."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๒๐)


"... "ขาดทุนเป็นการได้กำไรของเรา" หรือ "การขาดทุนของเรา เป็นการได้กำไรของเรา"... "การขาดทุน ของเราเป็นการได้กำไรของเรา" หรือ "เราขาดทุนเราได้กำไร" …Our loss is our gain. ..…เราจึงอธิบายว่า ในการกระทำใดๆ ถ้าเรายอมลงทุนลงแรงไปก็เหมือนเสียเปล่า แต่ในที่สุด เรากลับจะได้รับผลดี ทั้งทางตรง ทางอ้อม เรื่องนี้ตรงกับงานของรัฐบาล โดยแท้ ถ้าหากว่าอยากให้ประชาชนอยู่ดีกินดี รัฐจะต้องลงทุน ต้องสร้าง โครงการซึ่งต้องใช้เงินจำนวนเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นล้าน ถ้าทำไป ก็เป็น "loss" เป็นการเสีย เป็นการขาดทุน เป็นการจ่ายคือรัฐบาลต้อง ตั้งงบประมาณรายจ่าย ซึ่งมาจากเงินของประชาชนแต่ว่าถ้าโครงการดี ในไม่ช้าประชาชนก็จะได้กำไร จะได้ผล ราษฎรจะอยู่ดีกินดีขึ้น จะได้ ประโยชน์ไป ส่วนรัฐบาลไม่ได้อะไร แต่ข้อนี้ถ้าดูให้ดี ๆ จะเห็นว่า ถ้าราษฎรอยู่ดีกินดี มีรายได้...เขาก็สามารถเสียภาษีได้มากขึ้น...ทางวิชา เศรษฐศาสตร์แท้ๆ ก็เป็นอย่างนี้ได้เหมือนกัน มติหรือคติพจน์ที่ว่า "ขาดทุนทำให้มีกำไรได้" นั้นก็เป็นอันพิสูจน์ได้แล้ว..."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔)


"..ในปีใหม่นี้ ขอให้ท่านทั้งหลาย จงรักษาความสามัคคี และ จิตใจอันดีนี้ไว้ให้มั่นคง แล้วพยายามเร่งรัดปฏิบัติสรรพกิจการงาน ให้ประสานสอดคล้อง และเกื้อกูลกัน ด้วยความสุจริตบริสุทธิ์ใจ และ ด้วยความไม่ประมาท โดยยึดเอาประเทศชาติ และประโยชน์ของส่วนรวม เป็นจุดหมายสูงสุด..."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ : ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๓)