เงื่อนไขคุณธรรม (คุณธรรม)
"...สิ่งใดที่เห็นว่าถูกต้องแล้ว ท่านจะต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ ก็จะพา ให้เกิดความท้อถอย ทำให้มีคนทำงานจริงน้อยลงงานทุกอย่าง คุณธรรม ทุกอย่าง จะเสื่อมทรามลงจนหมดสิ้น เมื่อท่านกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ก็จะเป็นตัวอย่าง ซักนำผู้มีความรู้สติปัญญาทั้งหลาย ให้มีกำลังใจและ มีความเข้มแข็งที่จะปฏิบัติเช่นเดียวกัน...."
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๑๔)
"...การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือ ที่เป็นประโยชน์ และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็น ต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรม ประกอบด้วย เพราะเหตุว่าความรู้นั้นเป็นเหมือนเครื่องยนต์ ที่ทำให้ ยวดยานเคลื่อนไปได้ประการเดียว ส่วนคุณธรรมดังกล่าวแล้วเป็นเหมือน หนึ่งพวงมาลัยหรือหางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำพาให้ยวดยานดำเนินไป ถูกทางด้วยความสวัสดี คือ ปลอดภัยจนบรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์ ดังนั้น ในการที่จะประกอบการงานเพื่อตนเพื่อส่วนรวมต่อไป ขอให้ ทุกคนสำนึกไว้เป็นนิตย์ โดยตระหนักว่า การงาน สังคม และบ้านเมือง นั้น ถ้าขาดผู้มีความรู้เป็นผู้บริหารดำเนินการย่อมเจริญก้าวหน้าไปได้ โดยยาก แต่ถ้างานใด สังคมใด และบ้านเมืองใดก็ตามขาดบุคคลผู้มี คุณธรรมความสุจริตแล้ว จะดำรงอยู่มิได้เลย..."
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง : ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๐)
"...คุณธรรมห้าประการที่เป็นพละกำลังส่งเสริมและหนุนน้ำ ให้บุคคลประสบผลสำเร็จในการทำงาน...อย่างแรกคือความมีศรัทธาที่ ถูกต้อง ได้แก่ ความเชื่อถืออันประกอบด้วยความเพ่งพินิจด้วยใจที่มั่นคง เป็นกลาง จนเกิดความกระจ่างแจ่มแจ้ง อย่างที่สองคือความอุตสาหะ พากเพียรที่กล้าแข็งและไม่ขาดสาย ในอันที่จะกำจัดความเสื่อมและ เสริมสร้างความดีความเจริญ อย่างที่สามคือความระลึกรู้เท่าทันระมัดระวัง การกระทำของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้ประมาทพลาดพลั้งจนการงาน ต้องบกพร่องเสียหาย อย่างที่สี่คือความตั้งใจมั่นคง ให้ความคิดอ่าน เป็นระเบียบ รวมลงในการงานที่จะต้องกระทำ ไม่ฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่นๆ ที่มิใช่จุดประสงค์ อย่างที่ห้าคือปัญญาความรู้ชัด หรือความรู้ตลอด แจ่มแจ้งในงานและวิธีที่จะปฏิบัติบริหารงานโดยถูกต้องเที่ยงตรง..."
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง : ๑๓ ธันวาคม ๒๕๒๒)
"...คุณธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความรัก ความสามัคคีที่ทำให้คนไทย เราสามารถร่วมมือร่วมใจกันรักษาและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญ รุ่งเรื่องสืบต่อกันไปได้ตลอดรอดฝั่ง
ประการแรก คือ การที่ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน
ประการที่สอง คือ การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงานประสานประโยชน์กันให้งานที่ทำสำเร็จผลทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และกับประเทศชาติ
ประการที่สามคือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผน โดยเท่าเทียมเสมอกัน
ประการที่สี่ คือ การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิดความเห็น ของตนให้ถูกต้อง เที่ยงตรง และมั่นคงอยู่ในเหตุในผล
หากความคิด จิตใจ และการประพฤติปฏิบัติที่ลงรอยเดียวกัน ในทางที่ดี ที่เจริญนี้ยังมีพร้อมมูลในกาย ในใจของคนไทย ก็มั่นใจได้ว่า ประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ตลอดไปได้ จึงขอให้ท่านทั้งหลาย ในมหาสมาคมนี้ ทั้งประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้รักษาจิตใจและ คุณธรรมนี้ไว้ให้เหนียวแน่น และถ่ายทอดความคิด จิตใจนี้กันต่อไป อย่าให้ขาดสาย เพื่อให้ประเทศชาติของเราดำรงยืนยงอยู่ด้วยความร่มเย็น เป็นสุข ทั้งในปัจจุบันและในภายหน้า.."
(พระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี : ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙)