เงื่อนไขความรู้ (หลักวิชา / หลักวิชาการ)

"...สำหรับนักเรียนที่ได้รับปริญญาก็ขอแสดงความยินดีด้วย ที่ได้ อุตสาหะเล่าเรียนจนประสบความสำเร็จดังที่เห็นกันอยู่นี้ อันประเทศ ของเรานั้น เป็นที่รู้จักกันอยู่ทั่วไปแล้วว่า อุดมด้วยทรัพย์ในดินสินในน้ำ เพียงไร ฉะนั้นถ้าได้ร่วมมือร่วมใจช่วยกันนำทรัพย์เหล่านั้นขึ้นมาให้ ถูกต้องตามหลักวิชาการ ก็จะเป็นผลส่งเสริมทวีความมั่นคงของบ้านเมือง ได้อีกเป็นอันมาก..."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : ๒๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓)


"...ในการที่จะเอาหลักวิชาการที่ได้เล่าเรียนไปใช้เพื่อประกอบ กิจการงานต่อไปนั้น ควรจะคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ของท้องที่ แลถึง ผลสะท้อนที่อาจมีขึ้น..."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๐๐)


"...การส่งเสริมที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่กำลังเร่งกระทำอยู่ขณะนี้ คือ การเพิ่มผลผลิต โดยที่ถือว่า ผลผลิตเป็นที่มาของรายได้ การผลิตนั้น ทุกคนคงเห็นได้ไม่ยากว่า มีความเกี่ยวพันถึงความต้องการ ตลาด การจำหน่าย วิธีจัดกิจการ ตลอดจนถึงการนำรายได้ หรือผลประโยชน์ จากการผลิตมาใช้สอย บริโภคด้วย ดังนั้น การเพิ่มผลผลิตที่ถูกต้อง จึงมิใช่การใช้วิชาการทางการเกษตรเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตแต่เพียง อย่างเดียว แต่หากต้องเป็นการใช้วิชาการทางการเกษตรประกอบกับ วิชาการด้านอื่น ๆ ช่วยให้ผู้ผลิตได้รับประโยชน์ตอบแทนแรงงาน ความคิดและทุนของเขาที่ใช้ไปในการผลิตอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งให้สามารถนำผลตอบแทนนั้นมาใช้สอยปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ ให้มั่นคงขึ้นได้ด้วย..."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๑)


"...การพัฒนาประเทศ เพื่อให้เกิดความเจริญความมั่นคงแก่คน ส่วนรวมทั้งชาติได้แท้จริงนั้น จะต้องอาศัยหลักวิชาอันถูกต้อง และต้อง กระทำพร้อมกันไปทุก ๆ ด้านด้วย เพราะความเป็นไปทุกอย่างในบ้านเมือง มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันหมด..."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๕)


"...เมื่อมีวิชาความรู้ศึกษาสะสมไว้เป็นอย่างดี มีความไม่เคร่งเครียด ในหลักวิชาจนเกินไป และมีความเข้าใจในสภาพที่เป็นจริงของสิ่งต่างๆ อย่างแจ่มแจ้งแล้ว ก็จะเกิดความคิดเห็นอันปลอดโปร่ง สว่างไสว จะมี เหตุผลอันถูกต้องถ่องแท้ และจะมีปัญญาอันแยบคาย ที่จะนำมาใช้ ปฏิบัติงานและแก้ไขปัญหาทั้งปวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ.."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖)


"...วิวัฒนาการของมหาวิทยาลัยที่มีต่อเนื่องกันมาเป็นลำดับนั้น ถ้าจะได้พิเคราะห์สังเกตดูให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่า เป็นกลไกที่ละเอียด เกี่ยวโยงกันมาก คือต้องมีการปฏิบัติงานร่วมกันด้วยหลักวิชา ด้วยความคิดอ่านที่ถูกต้อง และสุขุมรอบคอบอยู่ตลอดเวลา ทั้งต้อง แก้ไขอุปสรรคขัดขวางที่เกิดขึ้นมากหลาย เพื่อให้งานทุกด้านดำเนินไปสู่ จุดหมายที่พึงประสงค์..."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น : ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๖)


....การสร้างอนาคตของตนและของส่วนรวม เป็นงานที่สำคัญ อย่างยิ่ง ซึ่งจะต้องอาศัยแผนการอันละเอียดรอบคอบ และต้องกระทำ อย่างหนักแน่นอยู่ตลอดเวลา มิฉะนั้นจะพาตัวพาประเทศชาติไปไม่รอด ทุกคนควรจะได้เตรียมการ เตรียมใจไว้ให้เข้มแข็งอยู่เสมอ และพร้อม ที่จะนำเอาสติปัญญา หลักวิชา ความร่วมมือ พร้อมทั้งความอดทน เข้มแข็ง มาใช้สร้างตัว สร้างบ้านเมือง และต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคทุกประการ ให้ลุล่วงไปจนบรรลุความสำเร็จและความเจริญในชีวิตทุกๆ ประการ ตามที่มุ่งหมายไว้..."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น : ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๖)


...การศึกษาขั้นอุดมมีความมุ่งหมายสำคัญ ที่จะฝึกฝนส่งเสริม บุคคลให้มีความสามารถสูง ทั้งทางวิชาการทั้งทางความคิด และว่า ความคิดนั้นเป็นตัวนำวิชาการ ทำให้ได้วิชาการได้สมบูรณ์ แต่ละคน จำเป็นต้องใช้ความคิดอย่างกว้างขวางและเป็นอิสระ จึงจะสามารถนำ วิทยาการไปใช้ปรับปรุงส่งเสริมงานด้านต่างๆ ให้เจริญและก้าวหน้า ได้จริง..."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๗)


...ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ จะต้องอาศัยหลักวิชาทั้งนั้น แต่บางที หลักวิชานั้นเราไปเอาตัวอย่างมาจากแหล่งที่มีสภาพการไม่เหมือนกับ ประเทศของเรา ยกตัวอย่างในเมืองไทย เดี๋ยวนี้ แต่งตัวชุดสากลแบบนี้ ก็ร้อนไม่เหมาะสมกับภูมิอากาศของประเทศไทย แต่ก็ได้ดัดแปลงไปบ้าง มิให้เครื่องแต่งตัวเหล่านี้ร้อนเกินไป แต่ถ้าอยากแต่งชุดเสื้อกันหนาว หนาๆ หรูๆ ก็จะต้องสร้างโรงหรือห้องที่เย็นจัด ปัจจุบันนี้เครื่องเย็น บางแห่งก็หนาว จนกระทั่งต้องใส่เสื้อกันหนาว นับว่าเป็นการสิ้นเปลือง โดยใช่เหตุ ที่จะทำความเย็นให้มาก จนกระทั่งต้องใส่เครื่องแต่งตัวที่ ป้องกันความหนาวในประเทศที่ร้อน ความสิ้นเปลืองเช่นนี้ทำให้เสีย เศรษฐกิจเหมือนกัน.."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔)


"...ทุกๆ สิ่งมีชีวิต และประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีชีวิต ระเบียบการอะไรก็เปลี่ยนแปลงได้ แล้วถ้าเปลี่ยนโดยวิธีพูดกันรู้เรื่อง คือเจรจากันอย่างถูกหลักวิชาที่แท้ ที่สูงกว่าหลักวิชาในตำรา ก็จะ หมดปัญหา แต่ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนไป แล้วก็เปลี่ยนอย่างตายตัวไปเลย เมื่อสถานการณ์ไม่อำนวย ก็เปลี่ยนต่อไปได้โดยต้องไม่ทะเลาะกัน อย่างหนัก จนกระทั่งทำให้เสียหาย จนทำให้ประเทศไทยกลับเป็น ประเทศที่ล้าหลัง..."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔)