ความพอประมาณ
...ในการดำรงตนในภายหน้านั้น ท่านจะต้องประพฤติให้ดี ให้เหมาะสมแก่ฐานะรู้จักผิดและชอบ ประกอบอาชีพโดยสัมมาอาชีวะ ไม่เสเพลและไม่ปล่อยตนให้เป็นทาสแห่งอบายมุขต่างๆ ดังนี้แล้ว ท่านก็จะสามารถเป็นที่พึ่งแก่ตนเองและครอบครัวของท่าน และจะเป็น ที่นับถือของบุคคลอื่น..."
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๖)
...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้าง พื้นฐาน คือความพอมีพอกินพอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็น เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้อง ตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้าง ค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้น โดยลำดับต่อไป.."
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗)
"...ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วย การสร้างพื้นฐาน คือความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อนด้วยวิธีการที่ ประหยัด ระมัตระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคง พอควรแล้ว...การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพ และตั้งตัว ให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้น เป็นสิ่งสำคัญ อย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อม สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้โดยแน่นอน ส่วนการถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญ ให้ค่อยเป็นไปตามลำดับด้วย ความรอบคอบ ระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาด ล้มเหลว..."
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗)
"...ทั้งนี้ คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่า เมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และ ขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งอธิษฐาน ตั้งปณิธาน ในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบ พออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรื่องอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกิน นี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้ .. ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือว่า เป็นผู้ที่มี ความคิด และมีอิทธิพล มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความคิดเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำ พอควร พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็น ของขวัญวันเกิดที่ถาวร ที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล..."
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗)
"...คนที่อยู่ข้างในนนี้ ก็อาจจะอยากไปอยู่ข้างนอกก็ได้ คนที่อยู่ ข้างหน้าก็อาจจะอยากอยู่ข้างหลัง คนที่อยู่ข้างหลังก็อาจจะอยากอยู่ ข้างหน้า ไม่มีความพอใจสักนิดเดียว แต่ก็ต้องจัดระเบียบอะไรอย่างที่จะ ให้ความปรารถนาของแต่ละคนได้ผลพอสมควร ถึงจัดอย่างนี้
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๑๙)
"...ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เป็น ผู้มีความรู้ความจัดเจนทั้งในวิชาการและในการปฏิบัติ นอกจากนั้น ยังเชื่อได้ว่าแต่ละคนมีความสามารถ ที่จะปฏิบัติให้เหมาะสมกับภาวะ อุตสาหกรรมของประเทศ และให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ได้ตลอดเวลาด้วย เพราะต่างได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่ปรับปรุง อยู่เสมอ เพื่อให้ได้ผลตามจุดมุ่งหมายดังกล่าว ในการที่ทุกคนจะออก ปฏิบัติงานให้ได้สมบูรณ์ และให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองโดย ส่วนรวมนั้น มีสิ่งสำคัญที่ควรจะต้องศึกษาให้ทราบแจ้งชัดตั้งแต่ต้นว่า บ้านเมืองของเรามีโครงสร้างอันก่อตั้งขึ้นด้วยส่วนประกอบที่สำคัญ มากมายหลายส่วน เป็นต้น เช่น อุตสาหกรรม เกษตรกรรม วนกรรม ชลประทาน รวมตลอดถึงเศรษฐกิจ การศึกษา และสังคมด้วย ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์ความเจริญต่างๆ ในบ้านเมือง จึงจำเป็น จะต้องใช้ให้พอดีและสอดคล้องกับโครงสร้างของประเทศทุกๆ ด้าน เพื่อให้ผลหรือประโยชน์อันจะเกิดขึ้นนั้น บังเกิดขึ้นพร้อมทุกด้านโดย สมบูรณ์ และได้สมดุลทั่วถึงกัน อันจะเป็นเหตุสำคัญที่สุด ซึ่งจะบันดาล ให้บ้านเมืองของเราเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและมั่นคง..."
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า : ๒๔ มีนาคม ๒๕๒๐)
"...ต้องทำแบบ "คนจน" เราไม่เป็นประเทศร่ำรวยเรามีพอสมควร พออยู่ได้ แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เราไม่อยากจะเป็น ประเทศก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ก็จะมีแต่ถอยหลัง ประเทศเหล่านั้น ที่เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรม ก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว แต่ถ้าเริ่มมีการ บริหารแบบเรียกว่า แบบ "คนจน" แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละ คือ เมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอดไป คนที่ทำงาน ตามวิชาการจะต้องดูตำรา เมื่อพลิกไปถึงหน้าสุดท้ายแล้วในหน้าสุดท้าย นั้นเขาบอก "อนาคตยังมี" แต่ไม่บอกว่าให้ทำอย่างไร ก็ต้องปิดเล่ม คือปิดตำรา ปิดตำราแล้วไม่รู้จะทำอะไร ลงท้ายก็ต้องเปิดหน้าแรกใหม่ เปิดหน้าแรกก็เริ่มต้นใหม่ ถอยหลังเข้าคลอง แต่ถ้าเราใช้ตำราแบบ "คนจน" ใช้ความอะลุ้มอล่วยกัน ตำรานั้นไม่จบ เราจะก้าวหน้า "เรื่อยๆ".."
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔)
"...การลงทุนมากอย่างนั้น บอกให้เขาทราบว่าไม่ค่อยเห็นด้วย. เพราะว่าเคยทำโรงงานเล็กๆ ที่ทางภาคเหนือ ใช้เงินสามแสนบาท เพื่อที่จะเอาผลิตผลของชาวบ้านชาวเขามาใส่กระป๋องแล้วขาย ก็ได้ผล. เป็นโรงงานเล็กๆ. บอกว่าที่เขาลงทุนเป็นล้าน รู้สึกว่าเสี่ยง เขาบอกว่า ต้องทำอย่างนั้น เขาก็ลงทุน. ทำไปทำมา สับปะรดที่อำเภอบ้านบึง ทางชลบุรี ก็มีไม่พอ. เมื่อมีไม่พอต้องไปสั่งสับปะรดมาจากปราณบุรี. สับปะรดจากปราณบุรีต้องขนส่งมา ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก. ทำไปทำมา โรงงานก็ล้ม. อย่างนี้ก็แสดงให้เห็นว่าทำโครงการอะไร ก็จะต้องนึกถึง ขนาดที่เหมาะสมกับที่เรียกว่าอัตภาพ หรือกับสิ่งแวดล้อม...."
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐)
"...ถ้าเราทำโครงการที่เหมาะสม ขนาดที่เหมาะสมอาจจะ ไม่ดูหรูหรา แต่จะไม่ล้ม หรือถ้ามีอันเป็นไป ก็ไม่เสียมาก..."
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐)
...การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบ พอมีพอกิน. แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มี พอเพียงกับตัวเอง..."
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐)
"...พอมีพอกินนี้ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง. ถ้าแต่ละคน พอมีพอกิน ก็ใช้ได้. ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี .... ให้พอเพียง นี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ. แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควร ที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ. อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือระบบพอเพียง. ... แต่พอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอดังนั้นเอง. คนเราถ้าพอในความ ต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย. ถ้าทุกประเทศมีความคิด "อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ" มีความคิดว่าทำอะไร ต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข. พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น. ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง...."
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑)
"...ถ้าทำอะไรที่แหม อยากให้ดีที่สุด มีรถคันนี้วิ่งได้ ๓๐๐ กม./ชม. ไปหาถนนที่ไหน แล่น ๓๐๐ กม./ชม. หรือถนนที่วิ่งได้เร็วมั่ง วิ่งได้ ๓๐๐ ไม่ถึง ถึงที่ เค้าก็เลยไม่วิ่ง ๓๐๐ ถามเค้าวิ่งเท่าไหร่ เค้าวิ่ง ๑๔๐-๑๕๐ มันก็มากแล้ว ๑๔๐-๑๕๐ วันก่อนนี้มีคนเค้าแล่นรถจากกรุงเทพไป หัวหิน รถเล็กกว่าคันนี้อีก ก็วิ่ง ๑๕๐ กม./ชม. ใช้น้ำมันเติมกอฮอล์ ของสวนจิตรนี่ก็ใช้ได้คือทดลองดู วิ่งได้ เครื่องก็ไม่เสีย และก็วิ่งก็ได้เร็ว กินน้ำมันก็ไม่มากกว่าเดิม และทำให้ตรงข้ามเครื่องดีขึ้น สะอาด ไม่มี มลพิษ ก๊าซกอฮอล์นี่ทำมาหลายปีแล้ว ๑๐ ปีได้ ก็ใช้ได้ แต่ว่าที่ยัง ไม่เผยแพร่มาก เพราะเหตุว่าถ้าทำกอฮอล์นี่จะต้องเสียภาษี เสียภาษี ลงท้ายน้ำมันก๊าซกอฮอล์นี่จะแพงกว่า แพงกว่าน้ำมัน ๑๗ บาท จึงยัง ไม่บอกว่าควรจะใช้ แต่ถ้าใช้ได้ ไม่จำเป็นที่จะเก็บภาษีมากนัก แต่เค้า กลัวกัน ว่า ถ้าไม่เก็บภาษีมาก เดี๋ยวแทนที่จะใส่รถจะใส่จะดื่ม จะบริโภค คือคำว่าบริโภคน่ะเอาน้ำมันก๊าซกอฮอล์หรือกอฮอล์ ใส่ในรถ ก็เป็นการ บริโภคเหมือนกัน แต่การบริโภคนั้นก็ได้ผลว่ารถมันแล่น ก็บริโภค การคมนาคม แต่ว่าบริโภคใส่ในปาก ก็เป็นการบริโภคเหมือนกัน บริโภค ใส่ในปากแล้วก็ไปใส่ในรถ บริโภคใส่ในรถให้แล่นไป มีหวังไม่ ก็ถึงที่ เหมือนกันฉะนั้นก็เลยยังไม่แนะนำให้ใช้กอฮอล์เป็นบริโภคเป็นเชื้อเพลิง ใส่ในปาก แต่ว่าถ้าสมมุติว่า กอฮอล์ที่ทำแล้วก็บริโภคโดยใส่ในรถแล้ว แล่นได้ก็ไม่ต้องเก็บภาษีให้มันแพง แต่ว่านักเศรษฐกิจท่านบอกว่า กอฮอล์ต้องเก็บภาษี ถ้าไม่เก็บภาษีไม่ใช่กอฮอล์ แล้วก็ยังไม่เข้าใจ ไม่ค่อยเข้าใจเศรษฐศาสตร์ แต่ยังไงท่านก็คิด แล้วข้อสำคัญที่สุด กอฮอล์นี้ถ้าดีจริงๆ สามารถที่จะผลิตในประเทศ ผลิตในประเทศ ก็ไม่ต้องเสียเงินตราต่างประเทศ..."
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๓)