พอเพียง / เศรษฐกิจพอเพียง / Sufficiency Economy

"...การจะเป็นเสือนั้น ไม่สำคัญ. สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจ แบบพอมีพอกิน. แบบพอมีพอกิน หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มี พอเพียงกับตัวเอง. อันนี้ก็เคยบอกว่าความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง. อย่างนั้น มันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียง พอสมควร. บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก...."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐)


"...คนอื่นเขาต้องมีการเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่า เป็นเศรษฐกิจการค้าไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา. แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า ผลิตให้พอเพียงได้..."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐)


"...ที่พูดกลับไปกลับมาในเรื่องการค้า การผลิต การขาย และ การบริโภค นี้ ก็นึกว่าท่านทั้งหลายกำลังกลุ้มใจในวิกฤตการณ์. ตั้งแต่ คนที่มีเงินน้อยจนกระทั่งคนที่มีเงินมาก ล้วนเดือดร้อน. แต่ถ้าสามารถ ที่จะเปลี่ยนไป ทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้แค่ครึ่งก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถอยู่ได้ การแก้ไข อาจจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่ายๆ. โดยมากคนก็ใจร้อนเพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถที่จะแก้ไขได้. ที่จริงในที่นี้ก็มี นักเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็ควรจะเข้าใจที่พูดไปดังนี้.."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐)


"...เศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว คือไม่ต้องทั้งหมด หรือแม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ.....หมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ ของประเทศก็จะพอ. ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง และทำได้ เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น ไม่ได้แปลว่าเศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ...."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑)


"...ที่พูดทั้งหมดนี้ ฟังแล้ว อาจจะน่ากลุ้มใจ แต่ถ้าดูอีกแง่หนึ่ง ก็อาจจะน่าสบายใจ. น่าสบายใจ เพราะดูได้ว่าถ้าเราปฏิบัติอย่างเรียกว่า ตรงไปตรงมา ด้วยความตั้งอกตั้งใจสักนิดหนึ่ง บอกว่าสักนิด ก็พอ ไม่ต้อง ตั้งอกตั้งใจอย่างเคร่งเครียดมากเกินไป แต่ให้สม่ำเสมอ. สม่ำเสมอนี้ ก็แบบเดียวกับที่พูดถึงพอเพียง สม่ำเสมอในทุกอย่าง. พอเพียง ในทุกอย่าง..."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑)


"..เมืองไทยรอดเพราะโครงสร้างของประเทศ หรือนิสัยของ ประชากรชาวไทย. ประชากรนี่ หมายถึงประชาชนที่อยู่ในกรุง ประชาชน ที่อยู่ในชนบท ประชาชนที่อยู่ชายทะเล ประชาชนที่อยู่บนภูเขา ยังดี คนยังมีจิตใจที่กล้าคิด กล้าทำ. ถ้าทำตามคุณสมบัติของคน คือ คุณธรรม ของคนหรือความดีของคน เมืองไทยสบาย ไม่ต้องให้ต่างประเทศมาขุด. แม้จะมีต่างประเทศมาขุด เขาก็ขุดให้เรา. เขาก็แบ่งให้เราด้วย เราก็แบ่ง ให้เขา. นี่ก็เลยกลายเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบเศษ ๑ ส่วน๔ หรือ มากกว่าเศษ ๑ ส่วน ๔ ด้วยความพอเพียงที่แปลว่า พอประมาณ และ มีเหตุมีผล. อันนี้ก็กลับมาถึงที่เศรษฐกิจพอเพียง ก็เลยนึกว่าเป็นสิ่งที่ น่าจะนำไปคิด...."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑)


...เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐาน ความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือน ตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมาก มองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป..."

(พระราชดำรัสจากวารสารชัยพัฒนา : ฉบับประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๔๒)


"...ที่บอกว่าพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อแปลแล้วเป็นภาษา อังกฤษ ก็ไม่เข้าใจความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง ก็เลยบอกแล้วว่า ถ้าไม่เข้าใจจะอธิบายใหม่ ก็ได้อธิบายใหม่ เมื่อปีที่แล้ว วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ก็ได้อธิบาย ก็รู้สึกว่าได้อธิบายอย่างแจ่มแจ้ง ยืดยาว ก็ดูใคร ต่อใครก็พยักหน้าว่า เออดี ทำไปทำมา ก็ถามกันว่าจะทำอย่างไรสำหรับ เศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว ก็มีการสัมมนากัน มีรายการวิทยุ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนถามกันไปถามกันมาว่า เศรษฐกิจพอเพียงของ พระเจ้าอยู่หัวนี่เป็นอย่างไร เขาบอกว่ารู้ดี จะทำให้ประเทศชาติรอดพ้น จากวิกฤตการณ์ได้ บางคนก็คัดค้าน บอกไม่ดี ไม่ใช่ว่าผู้ที่กล่าวถึง เศรษฐกิจพอเพียง เป็นคล้ายๆ เป็นทฤษฎีใหม่ จะน้อยใจไม่น้อยใจ ดีใจที่ท่านผู้ที่เป็นนักเศรษฐกิจ ผู้ที่เป็นอาจารย์เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ ที่มีชื่อเสียง เขาอุตส่าห์อ้างถึงเอ่ยถึงเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว ถ้าเขาไม่เห็นว่าดี เขาไม่พูดเลย ถ้าพูดเดี๋ยวหาว่ามาติเตียนพระเจ้าอยู่หัว ไม่ดี...มีคนหนึ่งพูด เป็นด็อกเตอร์ เขาพูดว่า เศรษฐกิจพอเพียง นี่ภาษา อังกฤษว่าอย่างไร แหม คันปากอยากจะพูด ที่จริงที่คันปากที่จะพูด ก็เพราะว่าตอบแล้ว อย่างที่เห็นในทีวีรายการใหญ่ เขาพูดถามโน่นถามนี่ เราดูแล้วรำคาญเพราะว่าตอบแล้ว ตอบเสร็จแล้วก็ถามใหม่เมื่อตอบอีก ก็บอกว่าทำไมพูด คราวนี้เราฟังเขา แล้วเขาถามว่าภาษาอังกฤษจะแปล เศรษฐกิจพอเพียงว่าอย่างไร ก็อยากจะตอบว่า มีแล้วในหนังสือ ในหนังสือไม่ใช่หนังสือตำราเศรษฐกิจในหนังสือพระราชดำรัสที่อุตส่าห์ พิมพ์ และนำมาปรับปรุงดูให้ฟังได้ และแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพราะว่า คนที่ฟังภาษาไทย บางทีไม่เข้าใจภาษาไทย ก็ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ และขีดเส้นใต้ด้วยว่า เศรษฐกิจพอเพียง เขียนเป็นตัวหนา แปลว่า Sufficiency Economy เขียนเป็นตัวหนาในหนังสือ เสร็จแล้วเขาก็มา ต่อว่า คำว่า Sufficiency Economy ไม่มีในตำราเศรษฐกิจ จะมีได้อย่างไร เพราะว่าเป็นทฤษฎีใหม่เป็นตำราใหม่ถ้ามีอยู่ในตำราก็หมายความว่าเรา ก๊อปปี้มา เราลอกเขามา เราไม่ได้ลอกไม่อยู่ในตำราเศรษฐกิจ เป็นเกียรติ ที่เขาพูดอย่างที่เขาพูดอย่างนี้ว่า Sufficiency Economy นั้นไม่มี ในตำรา การที่พูดว่าไม่มีในตำรานี่ที่ว่าเป็นเกียรตินั้นก็หมายความว่า เรามีความคิดใหม่ และท่านผู้เชี่ยวชาญสนใจ ก็หมายความว่า เราก็ สามารถที่จะคิดอะไรได้จะถูกจะผิดก็ช่างแต่ว่าเขาสนใจ แล้วก็ถ้าเขาสนใจ เขาก็สามารถที่จะไปปรับปรุงหรือไปใช้หลักการ เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจ ของประเทศ และของโลกพัฒนาดีขึ้น... เศรษฐกิจพอเพียงก็มีเป็นขั้นๆ แต่ว่าต้องดูว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ที่จะมาบอกว่าให้พอเพียงเฉพาะตัวเอง ๑๐๐% เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน ถ้ามีการช่วยกัน แลกเปลี่ยนไม่ใช่พอเพียงแล้ว แต่ว่าพอเพียง ในทฤษฎีหลวงนี้ คือ สามารถที่จะดำเนินงานได้ แต่ที่ว่าเมืองไทย ไม่ใช้เศรษฐกิจพอเพียงนี่ ไม่ได้ตำหนิ ไม่เคยพูด นี่เพิ่งพูดวันนี้ เวลานี้ ขณะนี้ ว่าประเทศไทยไม่ใช้เศรษฐกิจพอเพียงค่อนข้างเยอะ แย่เพราะว่า จะทำให้ล่มจม ให้เศรษฐกิจพอเพียง ที่หมายถึงนี้ คือว่าอย่างคนที่ทำ ธุรกิจก็ย่อมต้องไปกู้เงินเพราะว่าธุรกิจหรือกิจการอุตสาหกรรมสมัยใหม่ คนเดียวไม่สามารถที่จะรวบรวมทุนมาสร้างกิจกรรมที่ใหญ่ ซึ่งจำเป็น ที่จะใช้กิจกรรมที่ใหญ่ไหนๆ ได้เอ่ยถึง เขื่อนป่าสักคนเดียวทำไม่ได้ หรือ แม้หน่วยราชการหนึ่งเดียวทำไม่ได้...กต้องรวบรวมกำลังและกลายเป็น กิจการของรัฐบาลเป็นส่วนรวม..ถ้านับดูปีนี้ น่าจะมีความเสียหาย หมื่นล้าน ไม่ต้องเสีย และที่ไม่ต้องเสียนี้ก็ทำให้เกิดมีผลผลิต โดยเฉพาะ เกษตรมีผลผลิตได้ แม้จะปีนี้ซึ่งเขื่อนยังไม่ทำงานในกิจการด้าน ชลประทาน ก็ทำให้ป้องกันไม่ให้มีน้ำท่วม ทำให้เกษตรกรเพาะปลูกได้ ก็เป็นเงินหลายพันล้านเหมือนกัน ฉะนั้นในปีเดียวเขื่อนป่าสักนี้ได้คุ้มแล้ว คุ้มค่าที่ได้สร้าง๒ หมื่นล้าน...ก็หมายความว่ากิจการเหล่านี้ไม่ได้อยู่ใน เรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน แต่ว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียง แบบก้าวหน้าก็พอเพียง เพราะว่าถ้าทำแล้ว คนอาจจะเกี่ยวข้องกับกิจการนี้ มากมาย แต่ว่าทำให้ส่วนรวมได้รับประโยชน์แล้วเจริญ.... แต่ว่าถ้ากิจการ ที่ทำไม่มีนโยบายที่แน่วแน่ ที่สอดคล้องกัน มัวแต่ทะเลาะกันไม่สำเร็จ ไม่สำเร็จก็ถือว่าไม่ได้ประโยชน์จากกิจการที่คิด เมื่อไม่ได้ประโยชน์จาก กิจการที่คิด ป่านนี้เราจะจนลงไป เงิน๒ หมื่นล้านถือไปลงทุนก็ถือว่า หมดไปแล้ว หมดไปโดยไม่มีประโยชน์ หมดไปโดยได้ทำลาย เพราะว่า เกษตรกรเดือดร้อน ชาวกรุงเดือดร้อน ฉะนั้นก็ต้องมีเหมือนกัน โครงการต่างๆ หรือเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่ต้องมีการสอดคล้องกันดี ที่ไม่ใช่ เพียงแต่เหมือนทฤษฎีใหม่ ๑๕ ไร่ แล้วก็สามารถที่จะปลูกข้าวพอกิน ไอ้นี่มันใหญ่กว่า แต่อันนี้ก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกันคือ คนที่ ไม่เข้าใจว่ากิจการใหญ่ๆ เหมือนสร้างเขื่อนป่าสัก เขาคิดว่าเป็นเศรษฐกิจ สมัยใหม่เป็นเศรษฐกิจที่ไกลจากเศรษฐกิจพอเพียง... อันนี้เป็นตัวอย่าง ในทางบวกเศรษฐกิจพอเพียงอีกอย่างหนึ่งไม่ค่อยอยากพูด เช่น การแลกเปลี่ยนเงิน ค่าแลกเปลี่ยน นี่ได้พูดมา ๒ ปี บอกว่าให้ค่าของเงิน จะสูงจะต่ำเท่าไหร่ ก็ไม่ขัดข้อง แต่ว่าถ้าไม่สมดุล มันไม่ดี...."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒)


"...เศรษฐกิจพอเพียง เขาตีความว่าเป็นเศรษฐกิจชุมชน คือ หมายความว่า ให้พอเพียงในหมู่บ้าน หรือในท้องที่ ให้สามารถที่จะ พอมีพอกิน มันเริ่มด้วยพอกิน "พอมี พอกิน" อันนี้ พอมีพอกินได้ พูดมาหลายปี สิบกว่าปีมาแล้วให้พอมีพอกิน แต่ว่าพอมีพอกินมันเป็น เริ่มต้นของเศรษฐกิจ เมื่อปีที่แล้วบอกว่าถ้าพอมีพอกิน self-sufficiency คือ พอมีพอกินของตัวเองนั้นมันเป็นเศรษฐกิจสมัยหิน มันไม่ใช่ว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจสมัยหิน สมัยหินเป็นเศรษฐกิจ พอเพียงเหมือนกัน แต่ว่าค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน มีการช่วยระหว่างหมู่บ้านหรือระหว่างอำเภอ จังหวัด ประเทศ ก็ต้อง มีการแลกเปลี่ยน มีการไม่พอเพียงกัน ถึงบอกว่า ถ้ามีเศรษฐกิจพอเพียง เพียงเศษ ๑ ส่วน ๔ ก็จะพอแล้ว จะใช้ได้ เพราะถ้ามีเศรษฐกิจพอเพียง เศษ ๑ ส่วน ๔ ถ้าสมมุติว่าปีนี้ไฟดับ ถ้าไม่มีเศรษฐกิจพอเพียง ไฟดับ ไฟฟ้าหลวงหรือไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็ดับหมด จะทำอย่างไร ที่ต้องใช้ไฟฟ้า ก็ต้องแย่ไป.."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒)


"...แต่ว่าเมื่อตะกี้ เมื่อเข้ามานี้ มีคนพูดแทน ก็หวังว่าเป็นการ พูดแทน ของประชาชนจริงๆ เพราะเค้าบอกว่าเค้า พูดในนามของ ประชาชนคนไทย ว่าจะทำตามเศรษฐกิจพอเพียง ของพระเจ้าอยู่หัว อันนี้ไม่ทราบว่าเค้ารู้เรื่องดีอย่างไร ถึงว่าเศรษฐกิจพอเพียง ของ พระเจ้าอยู่หัวคืออะไร แต่ก็ควรจะรู้ หรืออย่างน้อยที่สุด ท่านผู้ใหญ่ ที่นั่งอยู่ ข้างในนี้ ก็น่าจะรู้ น่าจะเข้าใจ เพราะว่าจำนวนมากส่วนใหญ่ ได้ฟังพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง และ ทฤษฎีใหม่ มาหลายต่อหลายครั้ง แล้วไม่ได้คัดค้านว่าใช้ไม่ได้ ทำไม่ได้ มีบางคนพูดบอกว่า เศรษฐกิจ พอเพียง นี้ไม่ถูก ทำไม่ได้ ไม่ดี ได้ยินคนเค้าพูด แต่ว่าส่วนใหญ่บอกว่าดี แต่พวกส่วนใหญ่ที่บอกว่าดีนี้ เข้าใจแค่ไหนก็ไม่ทราบ แต่ยังไงก็ตาม เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ขอยำว่า เป็นการทั้งเศรษฐกิจ หรือ ความประพฤติ ที่ทำอะไรเพื่อให้เกิดผลโดยมีเหตุและผล คือเกิดผลมันมาจากเหตุ ถ้าทำ เหตุที่ดี ถ้าคิดให้ดีให้ผลที่ออกมา คือสิ่งที่ติดตามเหตุ การกระทำ ก็จะ เป็นการกระทำที่ดี และผลของการกระทำนั้น ก็จะเป็นการกระทำที่ดี ดีแปลว่ามีประสิทธิผล ดีแปลว่ามีประโยชน์ ดีแปลว่าทำให้มีความสุข...."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๓)


"...ทั้งหมดนี้พูดอย่างนี้ก็คือเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเอง เศรษฐกิจ พอเพียงที่ได้ย้ำแล้วย้ำอีกแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า sufficiency economy ใครต่อใครก็ต่อว่า ว่าไม่มี sufficiency economy แต่ว่าเป็นคำใหม่ของเรา ก็ได้ก็หมายความว่า ประหยัด แต่ไม่ใช่ขี้เหนียว ทำอะไร ด้วยความ อะลุ้มอล่วยกัน ทำอะไรด้วยเหตุและผล จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง แล้ว ทุกคนจะมีความสุข แต่พอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงนี้ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติ ยากที่สุดเพราะว่าคนหนึ่งนั่งอยู่ที่นี้ อีกคนอยากจะนั่งเก้าอี้เดียวกัน นั่งได้ไหม ไอ้นี่ก็พูดมา มาหลายปีแล้ว ก็ แต่ละคนก็สั่นหัวว่านั่งไม่ได้ เพราะว่าเดือดร้อนเบียดเบียน."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๓)


"...เมืองไทยเนี่ยมีทรัพยากรดี ๆ ไม่ทำไม่ใช้เดี๋ยวต้องไปกู้เงินอะไร ที่ไหนมา มาพัฒนาประเทศ จริงสุนัขฝรั่งก็ต้องซื้อมา ต้องมี แต่ว่าเรามี ของทรัพยากรที่ดี เราต้องใช้ ไม่ใช่สุนัขเท่านั้น อื่นๆ ของอื่นหลายอย่าง แล้วก็ที่นายกฯ พูดถึงทฤษฎีใหม่ พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง ไอ้เนี่ยเรา ไม่ได้ซื้อจากต่างประเทศ แต่ว่าเป็นของพื้นเมือง แล้วก็ไม่ได้ อาจจะ อ้างว่าเป็นความคิดของพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่ทำมานานแล้ว ทั้งราชการ ทำราชการ ทั้งพลเรือน ทั้งทหาร ทั้งตำรวจ ได้ใช้เศรษฐกิจพอเพียง มานานแล้ว อย่างตำรวจไปเปิดโรงเรียนที่บนภูเขา ใช้เศรษฐกิจพอเพียง แท้ โรงเรียนสร้างโรงเรียนใช้ไม้ผุๆ พัง ๆ ก็ไปเลือกมา แล้วก็คนที่เป็นครู ก็เป็นตำรวจ๒ คน ได้เลี้ยงดู สอนเด็ก ๑๐ คน ๑๕ คน แล้วก็นอกจาก เลี้ยงดู ยังเป็นบุรุษพยาบาลด้วย ดูผู้ที่เป็น เออ มาลาเรียตรวจเลือด ตำรวจพวกนี้เขาตรวจเลือดแล้ว ก็เมื่อเป็นยังไง เขาก็ส่งผู้ที่ป่วย ช่วยชีวิต เด็กและผู้ใหญ่มากมาย แต่อย่างนี้ถือว่า เถื่อน หาว่าเถื่อน หาว่า ตำรวจป่าเนี่ย เขาเรียกว่า ตำรวจป่า พวกตำรวจชายแดนนี่ ตำรวจป่า เขา คนอื่นในกรุง หาว่าเป็นตำรวจป่า แต่ที่จริง ตำรวจป่าเนี่ยเขาช่วยชีวิต คนมากมาย มากหลาย..."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕)


...วิธีปลูกข้าวไม่เหมือนของเรา แต่ของเราเพิ่งพบ วิธีปลูก ข้าวใหม่ในพรุ และทำให้นราธิวาสมีกินแล้วก็ขายได้ อันนี้ที่แล้วก็ว่า จะต้องสอนให้เด็กๆ มีจินตนาการ ซึ่งตอนนั้นฝ่ายมาเลเซีย ฝ่ายมาลายู เขาก็มีเทคโนโลยีสูง เราก็ชื่นชม ชื่นชมรัฐบาลมาเลเซียว่าเขาเก่ง เขามีความสามารถ เขาฉลาด ก็จริง เขาฉลาด แต่ตอนนี้เขาปลูกข้าวไม่เป็น เขาต้องเอาคนไทยไปสอน แต่ที่เราสอนได้ ได้จากคนที่มีความรู้ แล้วเรียนเกี่ยวกับการเกษตร และมาพลิกแพลงให้สามารถทำให้ดิน มีผลิตผลได้ เพราะอันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ จะต้องสามารถเลี้ยงตัวได้ ถึงว่ามาเรื่องของ เศรษฐกิจพอเพียง แต่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้ก้าวหน้าไปอีก ว่าไม่ใช่ เพียงแต่ปลูกให้มีพอกิน ไม่ใช่ปลูกพอกินอย่างนั้น มันต้องมีพอที่จะ ตั้งโรงเรียน มีพอที่จะมีแม้แต่ศิลปะ ทำให้ศิลปะเกิดขึ้นแล้ว ประเทศชาติ ก็จะถือว่า ประเทศไทยเจริญเป็นประเทศที่เจริญในทุกทาง เจริญในทาง ไม่หิว มีกิน คือไม่จน แล้วก็มีกิน แล้วก็มีอาหารใจ อาหารที่จะศิลปะ หรืออะไรอื่นๆ ให้มากๆ..."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๖)


"...ความสะดวกสามารถจะสร้างอะไรๆได้ นี่คือเศรษฐกิจพอเพียง สำคัญว่า จะต้องรู้จักขั้นตอน คือ ถ้านึกจะทำอะไรให้เร็วเกินไปไม่พอเพียง แต่ว่าถ้าไม่เร็วเกินไปหรือถ้าช้าเกินไป ก็ไม่พอเพียง ต้องให้รู้จักก้าวหน้า... โดยไม่ทำให้คนเดือดร้อน อันนี้เศรษฐกิจพอเพียง ก็คงได้ศึกษามาแล้ว เราพูดมาตั้ง ๑๐ ปีแล้ว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง...ก็ต้องปฏิบัติด้วย... เดี๋ยวนี้ไม่ต้องโฆษณาแล้ว เพราะว่านักเศรษฐกิจที่มีความรู้ เขาเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วจะสบายใจ ที่มาแล้วก็มาถวายพระพร ให้สบายใจ อย่างนี้ ถ้าเข้าใจที่พูดที่ทำอะไรอันนี้ เป็นพรที่ดีที่สุด แล้วก็พอใจ ในเรื่องอื่น ไม่ใช่เรื่องข้าวเท่านั้นเอง ในเรื่องด้านปกครองทั้งหลาย ในด้านวิชาการ อื่นๆ ทั้งหลายมันก็มีพอเพียงเหมือนกัน อย่างทางโน้นพูดถึงรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ มีรัฐศาสตร์พอเพียงก็มีเหมือนกัน ถ้าไม่พอเพียงถึงใช้ ไม่ได้ ทำให้เละเทะไปหมด ถ้างั้นก็เลยพูดตะล่อมให้กลับใจว่า ให้พอเพียง ไม่ใช่เศรษฐกิจ ให้พอเพียงในความคิดและทำอะไรพอเพียงสามารถที่จะ อยู่ได้..."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๖)


"…จะทำอะไร ก็ขอให้แต่ละคนมีความสำเร็จพอสมควร เศรษฐกิจ พอเพียง คือ ทำให้พอเพียง ถ้าไม่พอเพียงไปไม่ได้ แต่ถ้าพอเพียง สามารถนำพาประเทศไปได้ดีก็ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จพอเพียง เพื่อให้บ้านเมืองบรรลุความสำเร็จที่แท้จริง..."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘)