คำนำ

เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูพินิจสมาจาร(หลวงพ่อโด่ อินฺทโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดนามะตูม และเจ้าคณะวัดนามะตูม ณ เมรุวัดนามะตูม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี กำหนดวันที่ ๑๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘ นี้ นาวาเอกสมภพ ภิรมย์ อธิบดีกรมศิลปากร มีความประสงค์จะจัดพิมพ์หนังสือเรื่องทศชาติ (ฉบับความย่อ) เพื่อแจกเป็นอนุสรณ์ กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์จึงได้เรียบเรียงเรื่องนี้ขึ้น เพื่อให้พิมพ์เผยแพร่ตามประสงค์

เรื่องทศชาตินี้ มีความปรากฏอยู่ในมหานิบาตชาดกอย่างละเอียดพิสดาร นับเป็นชาดกทางพุทธศาสนาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แต่เนื่องจากมหานิบาตชาดกใช้ถ้อยคำที่เป็นสำนวนโวหารและเต็มไปด้วยศัพท์ภาษาบาลี ทำให้อ่านเข้าใจยาก ต้องใช้เวลานานกว่าจะอ่านจบ จึงได้มีผู้เรียบเรียงถ้อยความจากมหานิบาตชาดกมาเล่าเป็นหนังสือขนาดใหญ่หลายสำนวน และที่แต่งขึ้นเป็นร้อยกรองก็มี เช่น ทศชาติ ของ พระปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) เป็นต้น กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เห็นว่าควรจะเรียบเรียงเรื่องทศชาติฉบับความย่อนี้ขึ้นเพื่อเป็นการแนะนำเรื่องพอเป็นสังเขป อันเป็นทางนำให้ผู้สนใจหามหานิบาตชาดกฉบับพิสดารอ่านต่อไป จึงได้มอบให้เจ้าหน้าที่แผนกอักษรศาสตร์และวรรณคดี กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์เรียบเรียงขึ้น และนางกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ หัวหน้ากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ เป็นผู้ตรวจแก้

เรื่องทศชาติหรือพระเจ้าสิบชาตินี้ เป็นชาดกเล่าเรื่องการบำเพ็ญบารมีในสิบชาติสุดท้าย ที่ถือกันว่าสำคัญยิ่งของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะได้มาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บารมีที่พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญในทุก ๆ ชาติตลอดทั้ง ๑๐ ชาตินั้นเรียกว่าบารมี ๑๐ ทัศ ประกอบด้วย ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี ซึ่งมีคำย่ออันเป็นหัวข้อของบารมี ๑๐ ทัศนี้ว่า ทา.สี.น.ป.วิ.ข.ส.อ.เม.อุ บารมีทั้ง ๑๐ ทัศนี้ ยังแบ่งแยกออกไปอีกตามความยิ่งหย่อนในการบำเพ็ญบารมีแต่ละชาติ คือ บารมีใดที่เกี่ยวกับทรัพย์ภายนอก อันได้แก่การบริจาคข้าวของเงินทองเป็นต้น ให้เป็นทานนั้น จัดเป็นบารมีขั้นต่ำ ได้ชื่อว่าทานบารมี ส่วนบารมีใดที่เกี่ยวกับร่างกาย คือได้บริจาคอวัยวะในร่างกายตน เป็นต้นว่าดวงตาให้เป็นทานนั้น จัดได้ชื่อว่าทานปรมัตถบารมี ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญได้ครบถ้วนทั้ง ๑๐ ประการ คือ ในชาติที่ ๑ เสวยพระชาติเบ็นพระเตมีย์ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ชาติที่ ๒ เสวยพระชาติเป็นพระมหาชนกผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ชาติที่ ๓ เสวยพระชาติเป็นพระสุวรรณสามผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี ชาติที่ ๔ เสวยพระชาติเป็นพระเนมิราชผู้ยิ่งด้วยอธิษฐานบารมี ชาติที่ ๕ เสวยพระชาติเป็นพระมโหสถผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ชาติที่ ๖ เสวยพระชาติเป็นพระภูริทัตผู้ยิ่งด้วยศีลบารมี ชาติที่ ๗ เสวยพระชาติเป็นพระจันทกุมารผู้ยิ่งด้วยขันติบารมี ชาติที่ ๘ เสวยพระชาติเป็นพระพรหมนารถผู้ยิ่งด้วยอุเบกขาบารมี ชาติที่ ๙ เสวยพระชาติเป็นพระวิธูรบัณฑิตผู้ยิ่งด้วยสัจจบารมี และชาติสุดท้ายเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ผู้ยิ่งด้วยทานบารมี

อนึ่ง ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ เจ้าภาพได้เรียบเรียงประวัติพระครูพินิจสมาจาร (หลวงพ่อโด่ อินฺทโชโต) ผู้มรณภาพ ให้พิมพ์ไว้ต่อจากคำนำนี้

ขออำนาจแห่งกุศลราศีทักษิณานุปทาน กับทั้งประโยชน์ทั้งปวงอันจะพึงเกิดจากหนังสือเรื่องนี้ จงเป็นประโยชน์สมบัติบันดาลอิฏฐคุณมุญผลแด่ พระครูพินิจสมาจาร (หลวงพ่อโด่ อินฺทโชโต) ผู้มรณภาพ ตามคติวิสัยในสัมปรายภพสมดังมโนปณิธานของคณะศิษยานุศิษย์ทุกประการ เทอญ

นาวาเอก สมภพ ภิรมย์

อธิบดีกรมศิลปากร
กรมศิลปากร

๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘