แนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งที่จะทำให้เกิดการนำปรัชญาฯ และหลักการบนพื้นฐานของปรัชญาฯ ดังกล่าวข้างต้นไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ซึ่งการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลสำเร็จได้นั้น จำเป็นที่จะต้องกำหนดแนวทางหรือยุทธวิธีในการขับเคลื่อนอย่างเป็นขั้นตอนและชัดเจน ดังนี้
เชื่อมโยงกลุ่มหรือบุคคลที่มีการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียงที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อสร้างแกนเครือข่ายขับเคลื่อนในการสานต่อองค์ความรู้ และรวมพลังเครือข่ายในการดำเนินกิจกรรมให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายนี้จะนำไปสู่การสร้างกระแสเศรษฐกิจพอเพียงในกลุ่มย่อยๆ (Many small movements) ที่มีความหลากหลายซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างพื้นฐานของการขับเคลื่อนต่อไป
ร่วมมือระหว่างแกนเครือข่ายโดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการถอดบทเรียนเศรษฐกิจพอเพียง จากกิจกรรมตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม (Showcases หรือ Best Practices) ในสาขาต่างๆ อาทิ เกษตร อุตสาหกรรม บริการ ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ธุรกิจขนาดจิ๋ว เล็ก กลาง ใหญ่ ทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว โดยชี้ให้เห็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความพอเพียงหรือไม่พอเพียง ทั้งนี้ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมและหลากหลายจะเป็นเครื่องมือที่มีพลังในการสื่อความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงในสังคม
พัฒนาแนวคิดให้ชัดเจน โดยการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่มีหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทางเพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงมากยิ่งขึ้นและนำเสนอเป็นทางเลือกหนึ่งของแนวทางการพัฒนา
สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง โดยสร้างและเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีประสบการณ์ที่จะผ่านกระบวนการไตร่ตรองและเรียนรู้จากการปฏิบัติเพื่อตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นกรอบแนวคิดและพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่พลังศรัทธาและฉันทามติเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในสังคม
สร้างสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Communication for Change) ที่มีพลังจากการประมวลความรู้และบทเรียนต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และเกิดความสนใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในกลุ่มเป้าหมาย
ขยายผลในภาคส่วนต่าง ๆ ในหลากหลายมิติ ให้เกิดพลังเครือข่ายที่มีแรงมากเพียงพอ (Momentum) ที่จะทำให้กระแสเศรษฐกิจพอเพียงขยายต่อไปเรื่อย ๆ ในวงกว้างอย่างเป็นธรรมชาติ จนเกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในแต่ละพื้นที่เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ถึงแนวทาง วิธีการ และเงื่อนไขในการนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สุขแก่ตนและสังคม
เกิดผลลัพธ์จากการขับเคลื่อน คือ ประชาชนในแต่ละพื้นที่และภาคส่วนปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการดำเนินชีวิตโดยน้อมเอาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นปรัชญานำทางชีวิต และเกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในกลุ่มสาขาอาชีพและพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จนสามารถนำไปสู่การปรับเปลี่ยนระบบและโครงสร้างของสังคม และยึดหลักการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงในที่สุด