เป้าหมายและวัตถุประสงค์
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในแนวทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศตามแนวทางสายกลาง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการนำสังคมให้สามารถรอดพ้นวิกฤตและดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
การนำหลักปรัชญาฯ ไปประยุกต์ใช้ตามทางสายกลางนั้นจะต้องอาศัยวิธีการ หรือการกระทำที่ยึดหลักของความพอประมาณบนพื้นฐานของความมีเหตุผล และมีการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอควบคู่ไปกับการอาศัยเงื่อนไขอีก ๒ ประการ คือ เงื่อนไขความรู้อันประกอบด้วยการมีความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวัง และเงื่อนไขทางด้านคุณธรรม ทั้งทางด้านจิตใจและการกระทำเป็นสำคัญ
เป้าประสงค์หลักของการสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงคือมุ่งสร้างกระแสสังคม ให้มีการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม และเกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการดำรงชีวิตและวิถีปฏิบัติ ตลอดจนปรับแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง
เป้าหมายการสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงแบ่งออกเป็น ๒ ระยะ คือ เป้าหมายการดำเนินการระยะสั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อน และเป้าหมายระยะยาวซึ่งเป็นผลที่คาดหวังจากการดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเป็นขบวนการ