ความเป็นมา

ตลอดเวลากว่าครึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงราชสมบัติบรมราชาภิเษก ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งได้พระราชทานพระปฐมราชโองการ

"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม
เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

พระองค์ได้ทรงทุ่มเทพระวรกายและพระสติปัญญาร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพสกนิกรของพระองค์ และบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของพสกนิกรเป็นที่ตั้ง โดยใช้หลักคุณธรรม และความรู้ ความเข้าใจทางหลักวิชา ความชำนาญและประสบการณ์เกี่ยวกับวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ เป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนา

จากพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระองค์นับตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ เป็นต้นมา จะพบว่า พระองค์ท่านได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการพัฒนา บนหลักแนวคิดพึ่งตนเอง เพื่อให้เกิดความพอมีพอกิน พอมีพอใช้ของคนส่วนใหญ่ โดยใช้หลักความพอประมาณ การคำนึงถึงความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว และทรงเตือนสติประชาชนคนไทยไม่ให้ประมาท ตระหนักถึงการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่ถูกต้องตามหลักวิชา และการมีคุณธรรมเป็นกรอบในการปฏิบัติและการดำรงชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อว่า เศรษฐกิจพอเพียง

วิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาเป็นบทเรียนของการพัฒนาที่ไม่สมดุลและไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ไม่คำนึงถึงระดับความเหมาะสมกับศักยภาพขององค์กร ภูมิสังคมของประเทศ หรือความพร้อมของคนและระบบ นอกจากนี้แล้ว การหวังพึ่งพิงความรู้ เงินลงทุนหรือตลาดจากภายนอกประเทศมากเกินไป โดยไม่เตรียมสร้างพื้นฐานภายในประเทศให้มั่นคงและเข้มแข็ง หรือสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อให้สามารถพร้อมรับความเสี่ยงจากความผันผวนของปัจจัยภายในและภายนอก

ในขณะเดียวกันปัญหาซึ่งทับถมมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมได้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกระจายทุน กระจายความเจริญ และกระจายรายได้ระหว่างกลุ่มคนและในเชิงพื้นที่ เกิดปัญหาทางสังคมความย่อหย่อนทางศีลธรรม ความเสื่อมสลายของวัฒนธรรมที่ดีของสังคมไทย ตลอดจนความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

บทเรียนจากการพัฒนาดังกล่าวข้างต้น ได้ทำให้ประชาชนชาวไทยทุกระดับในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม นักวิชาการ ย้อนกลับมาพิจารณาและทบทวนแนวทางการดำเนินชีวิต และการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา แล้วหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาและดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ในพระราชดำริของพระองค์ท่าน จนเกิดกลุ่มนักคิดและนักปฏิบัติจากหลายหน่วยงานและหลายสาขาอาชีพ ในระดับรากหญ้าและส่วนกลาง ที่หันมาให้ความสนใจศึกษาค้นคว้า พัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในเชิงกรอบแนวคิดทางทฤษฎี และใช้เป็นแนวทางประกอบการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น

สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการวางแผนของประเทศตระหนักถึงความสำคัญของพระราชดำริดังกล่าว จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ มาร่วมกันพิจารณา กลั่นกรองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานในโอกาสต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง สรุปออกมาเป็นนิยามความหมายปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และได้อัญเชิญเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นปรัชญานำทางในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับและทุกภาคส่วนของสังคม มีความเข้าใจในหลักปรัชญาฯ และนำไปเป็นพื้นฐานและแนวทางในการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข สังคมมีความเข้มแข็ง และประเทศชาติมั่นคงในที่สุด

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่เป็นทั้งแนวคิด หลักการ และแนวทางปฏิบัติตนของแต่ละบุคคล และองค์กร โดยคำนึงถึงความพอประมาณกับศักยภาพของตนเองและสภาวะแวดล้อม ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเองโดยใช้ความรู้อย่างถูกหลักวิชาการ ด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ควบคู่ไปกับการมีคุณธรรม ไม่เบียดเบียนกัน แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และร่วมมือปรองดองกันในสังคม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างสายใยเชื่อมโยงคนในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมเข้าด้วยกัน สร้างสรรค์พลังในทางบวก นำไปสู่ความสามัคคี การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ได้

ตัวอย่างภาคปฏิบัติที่รู้จักกันแพร่หลายตัวอย่างหนึ่งของหลักเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ทฤษฎีใหม่ ที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน โดยเริ่มต้นจากการสร้างความมั่นคงในระดับครัวเรือน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่งก่อน แล้วก้าวเข้าสู่การรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ ในรูปกลุ่ม ชุมชน หรือกลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง เพื่อร่วมมือกันสร้างสรรค์ และป้องกันแรงกระแทกทางลบจากภายนอก สร้างความเข้มแข็งของชุมชน และท้ายสุดเป็นการสร้างความเชื่อมโยงกับธุรกิจขนาดใหญ่ ภาครัฐ หรือองค์กรต่างๆ นอกกลุ่ม เพื่อขยายขอบเขตความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ ไปสู่ระดับประเทศ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันแม้ว่าประชาชนทั่วไปจะรู้จักและมีผลงานเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนมีการนำไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่างๆ บ้างแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีความหลากหลายในการตีความ เนื่องจากอาจจะยังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจน และไม่มีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก ทำให้ไม่มีการนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายเท่าที่ควร นอกจากนี้แล้วการดำเนินชีวิตหรือกิจกรรมต่างๆ อย่างไม่พอเพียง บนพื้นฐานของความประมาท ในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม อาจก่อให้เกิดปัญหาที่สะสม และสามารถนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมดังที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตได้

ดังนั้น สศช. จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องริเริ่มการสร้าง ขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสานต่อความคิดและเชื่อมโยงการขยายผลที่เกิดจากการนำหลักปรัชญาฯไปใช้อย่างหลากหลายในปัจจุบัน รวมทั้งจุดประกายให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับและการตระหนักถึงประโยชน์จากการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติในทุกระดับและทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงนี้ จะเป็นการเสริมพลังให้เศรษฐกิจพอเพียงประเทศไทยสามารถพัฒนาไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน และมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ เพราะแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่เน้นการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็ง รักษาความสมดุลของทุนและทรัพยากรในมิติต่างๆ ในขณะที่ส่งเสริมให้มีเสถียรภาพในระดับระหว่างประเทศ สามารถปรับตัวเลือกรับสิ่งที่เป็นประโยชน์และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรู้เท่าทัน และนำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนชาวไทยในที่สุด