แผนงานศึกษาวิจัย

การพัฒนาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในด้านต่างๆ มีความสำคัญยิ่งต่อการสร้างขบวนการขับเคลื่อนฯ เนื่องจากความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง การชี้ให้เห็นแนวทาง วิธีการ ตลอดจนประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตและกิจกรรมต่างๆ เป็นปัจจัยที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนจิตสำนึก และวิถีปฏิบัติ ฉะนั้น การศึกษาวิจัยจึงเป็นรากฐานที่สำคัญในการเสริมสร้างเครื่องมือทางปัญญาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ให้สามารถนำเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวม ในทุกระดับอย่างถูกต้อง

การพัฒนาวิชาการและส่งเสริมการศึกษาวิจัยค้นคว้าสามารถดำเนินการได้โดย การวิจัยเชิงทฤษฎีและวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action research) การจัดการองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียงที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายโดยใช้ระบบสารสนเทศ การจัดทำบทความศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง (Series of working paper) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยที่จะนำไปสู่การปรับทิศทางการพัฒนาให้อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น การสนับสนุนกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมที่อาศัยความรู้และประสบการณ์ของคนในท้องถิ่น หรือผู้ปฏิบัติในภาคส่วนต่างๆ มาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง ในบริบทที่หลากหลาย

ตัวอย่างกิจกรรมหลักของการศึกษาวิจัย อาทิ

  • พัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในแง่มุมต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในเชิงเศรษฐศาสตร์การพัฒนาแนวคิดปรัชญาในการแก้ไขปัญหาความยากจน และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกับการบริหารจัดการ เป็นต้น

  • พัฒนาและสนับสนุนงานวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อหารูปแบบการพัฒนาที่จะนำไปสู่โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่สมดุล มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมไทยที่เน้นความพอเพียง การแบ่งปันและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินโครงการพัฒนา โดยเฉพาะความสมดุลทางโครงสร้างและระบบการผลิต

  • ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อพัฒนาสังคมให้มีความเข้มแข็งและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นโดยส่งเสริมงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สามารถลดความเหลื่อมล้ำ ลดปัญหาการกระจายทุนที่ไม่เป็นธรรม และพัฒนาระบบทางสังคมให้มีการดูแลกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาส หรือกลุ่มชายขอบในสังคม

  • สนับสนุนงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันของสังคมในมิติต่างๆ และการสร้างดัชนีชี้วัดความพอเพียงทางเศรษฐกิจและสังคม (Sufficiency Economy Development Indicators) บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการเตรียมป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่สมดุลหรือความไม่พอเพียง ไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคม อาทิ การศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลกลุ่ม/องค์กร/พื้นที่ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต การวิจัย และพัฒนาระบบการเฝ้าระวังทางสังคม (Social Watch) และการวิจัยและพัฒนาการจัดการเงินออมและหนี้สินของชุมชน

  • สนับสนุนการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ อาทิ การสังเคราะห์องค์ความรู้จากกรณีศึกษาในชุมชนที่มีวิถีปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และการวิจัยและพัฒนาตลาดท้องถิ่น เพื่อเผยแพร่ให้เกิดความสนใจศึกษาเกี่ยวกับหลักปรัชญาฯเพิ่มเติมโดยสนับสนุนให้นักวิชาการ นักศึกษา หรือภาคีที่สนใจเข้าไปมีส่วนร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับชุมชน จนเกิดเป็นงานวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ที่ส่งเสริมความเข้าใจร่วมกัน อันจะนำไปสู่ความร่วมมือ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปแบบอื่นๆ ต่อไปได้