กลไกการดำเนินงาน
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง จำเป็นต้องมีกลไกในการบริหารจัดการที่จะเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อน โดยควรมีการบริหารจัดการในรูปแบบมูลนิธิเพื่อความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพ และอาจจัดตั้งเป็นสถาบันขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในที่สุด
ในระยะต้น หน่วยภายใน สศช. เป็นแกนกลางในการดำเนินการและประสานงานระหว่างเครือข่ายในขั้นต้น โดยจัดการด้านการเงินภายใต้การบริหารของมูลนิธิ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสามารถระดมทุนประเภทต่างๆ มาใช้ได้จากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งจากภาคเอกชน ภาครัฐ หรือองค์กรภาคีต่างๆ รวมทั้งมีความเป็นอิสระในการดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อน
ในระยะต่อไป เมื่อเครือข่ายมีความเข้มแข็งและมีผลการดำเนินงานเพียงพอที่จะเกิดการขับเคลื่อนในวงกว้าง อาจพิจารณาความเหมาะสมในการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการให้อยู่ในรูปแบบของสถาบันอิสระที่ดำเนินการได้เอง โดยจัดตั้งสถาบันขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นกลไกหลักในที่สุด
โครงสร้างการบริหารจัดการในชั้นต้นจะเป็นกลไก ๓ ระดับ ดังนี้
ระดับที่ ๑: คณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิเศรษฐกิจพอเพียง ทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะเชิงแนวทาง และข้อพึงพิจารณาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง
ระดับที่ ๒: คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งแต่งตั้งภายใต้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีองค์ประกอบและภารกิจหน้าที่ ดังนี้
องค์ประกอบ
ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานคณะกรรมการ
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นรองประธาน
ผู้แทนจากภาครัฐ ธุรกิจเอกชน ประชาสังคม และนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นอนุกรรมการ
ฝ่ายเลขานุการ
ภารกิจหน้าที่
ประสานเครือข่ายทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้ในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม
กำหนดกลยุทธ์และกิจกรรมหลัก ๆ ของการดำเนินงานตลอดจนจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติงานสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง
ให้คำแนะนำในการปฏิบัติงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการประสาน เชื่อมโยงเครือข่าย และการระดมทุน
ระดับที่ ๓: กลุ่มงานเศรษฐกิจพอเพียง ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเบื้องต้นของเครือข่าย ดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางที่คณะอนุกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบ รับผิดชอบการประสานงานในภาคปฏิบัติ และการจัดการทั่วไป โดยมีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลาอย่างพอเพียงที่จะดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบ่งความรับผิดชอบตามด้านต่างๆ และใช้กลไกของ มูลนิธิฯ จัดการด้านการเงินและธุรการทั่วไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ภารกิจหน้าที่ของฝ่ายเลขานุการ
ติดต่อ ประสานแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมของส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งภายในและภายนอก สศช. ให้เป็นไปในแนวทางที่คณะกรรมการฯ กำหนดและชี้แนะ
พิจารณากลั่นกรองโครงการและแผนงาน ที่เสนอโดยภาคีจากทุกภาคส่วน ทั้งในระดับราชการ ประชาสังคม วิชาการ และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ในกรณีที่ต้องการงบประมาณสนับสนุน
ส่งเสริม สนับสนุนและกระตุ้นให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงของภาคีต่างๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีความเข้มแข็งพอที่จะมีความเป็นพลวัตในตนเอง
ติดตามประเมินผลความก้าวหน้าจากการขับเคลื่อนของภาคีฝ่ายต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และรายงานต่อคณะกรรมการเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง
เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเพื่อให้การดำเนินงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงเป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้