การสังเคราะห์กรดอะมิโนที่ยึดติดกับคาร์บอน เพื่อใช้ในกระบวนการกำจัดความเค็มในน้ำโดยไม่ใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พงศภัค เหลืองรัตนา, วาทิศ หทัยศิริกุล

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ศรัณย์ นวลจีน

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนกำเนิดวิทย์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2562

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

จากปัญหาการทำการเกษตรในพื้นที่ใกล้กับแหล่งน้ำเค็มและน้ำกร่อย เช่นปากแม่น้ำ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นทางคณะผู้จัดทำจึงได้คิดค้นวิธีการลดความเค็ม ของแหล่งน้ำให้ง่ายต่อการใช้งาน ต้นทุนต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการสังเคราะห์ผงถ่านกัมมันต์ จากเปลือกทุเรียนเหลือทิ้งในชุมชนด้วยวิธีการทางเคมี โดยใช้สารละลายโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ เพื่อให้ได้ผงถ่านที่มีพื้นที่ผิวสูงสุด และนำผงถ่านกัมมันต์ที่ได้มาวิเคราะห์ลักษณะสัณฐานด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (Scanning Electron Microscope - SEM) จากนั้นนำผงถ่านมาดัดแปลงด้วยเกลือของกรดอะมิโนชนิดกลูตามีน ไกลซีน และ อาร์จินีน โดยให้โมเลกุลของกรดอะมิโนยึดติดกับคาร์บอนภายในโครงสร้าง การยึดติดของกรดอะมิโนบนคาร์บอนสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยเทคนิค Fourier-transform infrared spectroscopy (FTIR) เพื่อวิเคราะห์หาพันธะที่เกิดขึ้นบนผงถ่านที่สังเคราะห์ได้ จากนั้นนำผงถ่านที่ผ่านการดัดแปลงมาทดสอบประสิทธิภาพในการดูดซับโซเดียมไอออนออกจากน้ำเกลือ ซึ่งคาดว่าผงถ่านที่สังเคราะห์ได้จะมีรูพรุนสูง มีกรดอะมิโนบนโครงสร้าง และมีประสิทธิภาพในการลดความเค็มของน้ำได้จริง