การพัฒนาผงเสริมโปรตีนทางเลือกแปรรูปจากหนอนด้วงสาคู Rhynchophorus ferrugineus ที่มีการเสริมพืชอาหาร ร่วมกับปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของหนอนด้วงสาคู
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
สัญพัชญ์ อัครจีราวัฒน์, ธนัตถ์กรณ์ เชาวนสมิทธิ์
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
วนิดา ภู่เอี่ยม, ชนันท์ เกียรติสิริสาสน์
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกพืชวงศ์ปาล์มได้รับความเสียหายอย่างมากจากปัญหาการปล่อยด้วงสาคูตัวเต็มวัยของเกษตรกรผู้เลี้ยงหนอนด้วงสาคูออกสู่ธรรมชาติ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของตัวอ่อนภายในระยะเวลาที่ต้องการ ร่วมกับปัญหาการสารขาดแคลนอาหารประเภทโปรตีนและไอโอดีนของประชากรโลก ผู้วิจัยจึงชะลอการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของหนอนด้วงสาคู และเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของโปรตีนทางเลือกในกลุ่มของตัวอ่อนแมลง โดยศึกษาลักษณะและระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของระยะตัวอ่อนและระยะดักแด้ พบว่าด้วงสาคูจะอยู่ในระยะตัวอ่อน 3-5 สัปดาห์ และอยู่ในระยะดักแด้ 2-3 สัปดาห์ จากนั้นศึกษาชนิดของพืชที่ส่งผลต่อการยับยั้งภาวะ mutualism ของแบคทีเรียที่ช่วยในการชะลอการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของหนอนด้วงสาคู พบว่า กระเจี๊ยบเป็นพืชที่ชะลอการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของหนอนด้วงสาคูได้ดีที่สุด โดยพบการเข้าฝักน้อยกว่ากลุ่มควบคุม 76.7% และเมื่อผู้วิจัยได้ศึกษาปัจจัยชนิดของพืชที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนที่ช่วยในการชะลอการเปลี่ยนแปลงรูปร่างจากหนอนเป็นดักแด้ของหนอนด้วงสาคู พบว่ากะเพราเป็นพืชที่ชะลอการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของหนอนด้วงสาคูได้ดีที่สุด โดยพบการเข้าฝักน้อยกว่ากลุ่มควบคุม 50.0% เมื่อนำพืชที่มีผลต่อการยับยั้งภาวะ mutualism ของแบคทีเรีย มาร่วมกับกลุ่มพืชที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน พบว่าการใช้กระเจี๊ยบและกะเพรารวมกันสามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของหนอนด้วงสาคูได้ดีที่สุด โดยพบการเข้าฝักน้อยกว่ากลุ่มควบคุม 86.7% การศึกษาปัจจัยการปรับขนาดของใยมะพร้าวในการเข้าฝักเป็นดักแด้ของด้วงสาคู พบว่าอาหารไม่ผสมใยมะพร้าวมีผลทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงรูปร่างจากระยะตัวอ่อนเป็นระยะดักแด้ โดยพบการเข้าฝักน้อยที่สุด คิดเป็น 0.0% และผู้วิจัยได้ศึกษาการเสริมพืชอาหารประเภทโปรตีนก่อนการบริโภคหนอนด้วงสาคู เป็นระยะเวลา 1, 2 และ 4 สัปดาห์ โดยใช้กากถั่วเหลือง รำข้าว และเมล็ดกระเจี๊ยบ พบว่าหนอนด้วงสาคูที่มีการเสริมสารอาหารโปรตีนด้วยกากถั่วเหลือง เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ มีโปรตีนเพิ่มขึ้นกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่มีการเสริม 6.93% และเสริมพืชอาหารประเภทไอโอดีนเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ โดยใช้ใบชะคราม พบว่าหนอนด้วงสาคู มีไอโอดีนเพิ่มขึ้นกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่มีการเสริม 8.80% จากนั้นผู้วิจัยได้นำหนอนด้วงสาคูมาเสริมกระเจี๊ยบ กะเพรา กากถั่วเหลือง และใบชะครามเพื่อแปรรูปเป็นผงหนอนด้วงสาคูที่สามารถยืดอายุอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตได้นานกว่ากลุ่มควบคุม 48 ชั่วโมง
ดังนั้นการให้พืชอาหารที่มีผลต่อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารด้วงสาคู มีผลต่อฮอร์โมน juvenile และการปรับขนาดของใยมะพร้าวที่ใช้สร้างฝัก จึงมีผลต่อการชะลอการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของด้วงสาคูเพื่อลดปัญหาการปล่อยด้วงสาคูตัวเต็มวัยออกสู่ระบบนิเวศของเกษตรกร และการเสริมสารอาหารโปรตีนด้วยกากถั่วเหลือง และไอโอดีนด้วยใบชะคราม สามารถเพิ่มโปรตีนและไอโอดีนให้กับหนอนด้วงสาคูเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของโปรตีนทางเลือกและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหนอนด้วงสาคูได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน