การศึกษาประสิทธิภาพของยาดรอกซีโดปาต่ออัตราการรอดชีวิตของเซลล์ประสาท SH-SY5Y จากพิษของสารโรติโนน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ณิชา โสภานนท์, วรรณวนัช บุญพรานชู, เจ้าพระยา บรรจงการ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ชลกรานต์ อวยจินดา

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2564

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) เป็นโรคความเสื่อมของสมองที่เกิดจากการตายของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่สร้างสารโดปามีน (dopaminergic neurons หรือ dopamine-producing nerve cell) ในปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยการรักษาเป็นแบบประคับประคอง และรักษาตามอาการ ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการตายของเซลล์ประสาท คือ เกิดจากการสะสมของสารอนุมูลอิสระ (reactive oxygen species : ROS) ในสมอง งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการทดสอบยาดรอกซีโดปาในการลดการตายของเซลล์ประสาท ซึ่งยาดรอกซีโดปามีคุณสมบัติเป็น antioxidant และเป็นสารตั้งต้นของสารนอร์อิพิเนฟริน โดยสามารถลดการเกิด ROS ได้ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงทำการศึกษาความสามารถของยาดรอกซีโดปาต่อการลดอัตราการตายของเซลล์ SH-SY5Y ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดสภาวะ oxidative stress จากการได้รับสารโรติโนน โดยทำการทดสอบยาดรอกซีโดปาที่ความเข้มข้น 0 µM, 0.1 µM, 1 µM, 10 µM, และ100 µM ทั้งก่อน (pre-treatment) และหลัง (post-treatment) การใส่สารโรติโนนที่ความเข้มข้น 1 µM เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ทำการวัดอัตราการรอดชีวิตของเซลล์ด้วยวิธีการ MTT assay ผลการทดสอบพบว่า เมื่อเปรียบเทียบผลของกลุ่ม pre-treatment กับกลุ่มที่ได้รับสารโรติโนนเพียงอย่างเดียว พบว่าอัตราการรอดชีวิตของเซลล์ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ และการทดลองของกลุ่ม post-treatment ที่ความเข้มข้นของยาดรอกซีโดปา 0.1 µM พบว่าเซลล์มีอัตราการรอดชีวิตมากกว่ากลุ่มที่ได้รับสารโรติโนนเพียงอย่างเดียว อย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.01) ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าการได้รับยาดรอกซีโดปาสามารถลดอัตราการตายของเซลล์ SH-SY5Y ได้หลังจากเซลล์ได้รับสารโรติโนน