ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการกัดเซาะตลิ่งของแม่น้ำตาปีโดยใช้เทคโนโลยีโดรน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

แสงชัย รักทิม, ศักดา บุญรัตน์, นพวินท์ โอชา

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

เพ็ญนภา คูวิบูลย์ศิลป์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนนางเอื้อยวิทยา

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2560

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

แม่น้ำตาปีเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ของประเทศไทย มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหลวงซึ่งเป็นยอดเขาสูงที่สุดของทิวเขานครศรีธรรมราช แม่น้ำตาปีไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยที่อ่าวบ้านดอนอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำที่ใหญ่กว่าแม่น้ำใดๆ ในภาคใต้ ท้องที่ในลุ่มแม่น้ำสายนี้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีความสำคัญทั้งด้านการเพาะปลูกและการค้าขาย นับเป็นแม่น้ำที่สำคัญมากสายหนึ่งของประเทศไทยตั้งแต่โบราณทั้งในแง่เกษตรกรรม การคมนาคม เป็นทางผ่านคาบสมุทรและทางลำเลียงสินค้าระหว่างอินเดีย อาหรับ และจีน เป็นแหล่งเกิดชุมชนโบราณของภาคใต้ และยังคงมีความสำคัญมาถึงปัจจุบัน (กรมประมง, 2560)

ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2558 กรมควบคุมมลพิษ ได้ตรวจสอบคุณภาพแหล่งน้ำสำคัญ 65 แห่ง พบว่า แม่น้ำตาปีตอนบนซึ่งอยู่ในเขตอำเภอพิปูน อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเพียงแห่งเดียวที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในระดับดีมาก ไตรมาสที่ 3 ลดระดับลงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี (เดลินิวส์ออนไลน์, 2560) ปัจจุบันในพื้นที่ลุ่มน้ำตาปีตอนบนประสบปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่ง ตลิ่งพังเป็นผลให้สิ่งก่อสร้าง เรือกสวนไร่นาเสียหาย ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่งทำได้โดยสร้างแนวกันตลิ่งซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ กลุ่มของข้าพเจ้าจึงได้จัดทำโครงงานนี้ขึ้นเพื่อเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการกัดเซาะตลิ่งของแม่น้ำตาปีโดยใช้การถ่ายภาพมุมสูง เพื่อให้สามารถวิเคราะห์สาเหตุได้ชัดเจน ในอดีตการถ่ายภาพมุมสูงจะใช้อุปกรณ์ช่วยในการถ่ายภาพ เช่น การใช้เครน, การใช้เสาสูง หรือแม้กระทั่งให้ช่างภาพขึ้นเครื่องบินซึ่งไม่ปลอดภัยและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย (ณัชพล เกิดชนะ, 2555) แต่ด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีได้พัฒนามากขึ้นการถ่ายภาพมุมสูงโดยใช้อากาศยานไร้คนขับสามารถทำได้และมีต้นทุนต่ำมากเมื่อเทียบกับการถ่ายภาพมุมสูงในอดีต จึงได้จัดทำโครงงานนี้ขึ้นเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการกัดเซาะตลิ่งของแม่น้ำตาปีโดยใช้เทคโนโลยีโดรนถ่ายภาพมุมสูงในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยากโดยง่าย ซึ่งภาพที่ได้เมื่อนำมาวิเคราะห์ความเข้มของสีน้ำจะสามารถบอกคุณภาพน้ำรวมทั้งสีของน้ำยังบอกได้ว่าสถานการณ์น้ำเป็นอย่างไรเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนน้ำท่วมได้อีกด้วย

ผู้วิจัยเก็บข้อมูล 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ภาพถ่ายมุมสูง 90 เมตร เก็บภาพทุก 2 กิโลเมตร จากจุดเริ่มต้นท่าต้นโพธิ์ อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช (ละติจูด 8.5084159, ลองจิจูด 99.50167713) ไปทางโรงเรียนนางเอื้อยวิทยา โรงเรียนปากระแนะ ถึงวัดยางค้อม อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช (ละติจูด 8.546469, ลองจิจูด 99.604170)

ระยะที่ 2 ภาพถ่ายมุมสูง 90 และ 50 เมตร ตามเส้นทางเดิมของระยะที่ 1 ในจุดที่สามารถเห็นเส้นทางน้ำได้ชัดเจน และเก็บภาพมุมสูงที่ระยะ 30 เมตร ในแหล่งน้ำเพื่อวิเคราะห์สีของน้ำ ผลจากการวิจัยครั้งนี้จะสามารถบอก

1.ปัจจัยที่มีผลต่อการกัดเซาะตลิ่งของแม่น้ำตาปี

2.แนวทางในการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งของแม่น้ำตาปี

3.คุณภาพของน้ำในบริเวณใกล้โรงงาน บ้านเรือน ที่อยู่อาศัยและบริเวณอื่นๆ

4.บริเวณที่มีแนวโน้มการบุกรุกแหล่งน้ำ

5.คาดการณ์การเกิดน้ำท่วมจากสีของน้ำ

6.แผนที่ภาพถ่ายมุมสูงของแม่น้ำตาปีตอนบน

7.เส้นทางการช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติ

8.นักเรียนมีทักษะการคิดขั้นสูงและทักษะด้านสารสนเทศ