การพัฒนาศักยภาพของน้ำด่างจากเปลือกทุเรียนสำหรับทำสบู่แฮนด์เมด

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ปารีณา นวลจันทร์, ชนัญญา บุญสนอง, วรรณิศา สุภัทรนิยพงศ์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

เยาวเรศ ทองเหลือ

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนเมืองหลังสวน

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2564

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตราส่วนที่เหมาะสมของน้ำและเถ้าจากเปลือกทุเรียนในการทำน้ำด่างจากเปลือกทุเรียน และศึกษาประสิทธิภาพของน้ำด่างจากเปลือกทุเรียนในการทำสบู่แฮนด์เมด ซึ่งในพื้นที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร มีการทิ้งเปลือกทุเรียนปริมาณมากในฤดูกาลเก็บเกี่ยว กลายเป็นขยะเหลือใช้ทางการเกษตร ผู้พัฒนาจึงมีความสนใจศึกษาการใช้ประโยชน์จากเปลือกทุเรียนเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดขยะ ในการศึกษาพบว่าน้ำด่างจากเปลือกทุเรียนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดได้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีการประยุกต์ใช้กันมานาน โดยในการศึกษาครั้งนี้ได้แบ่งการทดลองเป็น 5 ชุด คือ ชุดที่ 1 น้ำ : เถ้าจากเปลือกทุเรียน 1: 1 ชุดที่ 2 น้ำ : เถ้าจากเปลือกทุเรียน 2 : 1 ชุดที่ 3 น้ำ : เถ้าจากเปลือกทุเรียน 3 : 1 ชุดที่ 4 น้ำ : เถ้าจากเปลือกทุเรียน 4 : 1 และชุดที่ 5 น้ำ : เถ้าจากเปลือกทุเรียน 5 : 1 เมื่อได้อัตราส่วนที่เหมาะสมของน้ำ : เถ้าจากเปลือกทุเรียน จึงนำน้ำด่างจากเปลือกทุเรียนที่ได้มาทดสอบทำสบู่แฮนด์เมด ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการทดลองนี้คือ อัตราส่วนที่เหมาะสมของน้ำและเถ้าจากเปลือกทุเรียนในการทำน้ำด่างจากเปลือกทุเรียน และสบู่แฮนด์เมดที่มีส่วนผสมของน้ำด่างจากเปลือกทุเรียน ซึ่งสามารถนำมาใช้ทำความสะอาดให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ได้