การดูดซับตะกั่วในน้ำเสียด้วยตัวดูดซับแทนนินที่สังเคราะห์จากใบกระถิน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ธนัญญา วงษ์นอก, สิรีธร ไทยใหม่

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

กุลธิดา สุวัชระกุลธร, สราวุธ แท่นจินดารัตน์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

บทคัดย่อ

จังหวัดระยองจัดอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่ประสบปัญหาการปนเปื้อนของโลหะหนักในแหล่งน้ำ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ บริเวณโดยรอบประกอบด้วยโรงงานปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันจำนวนมาก ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าว ในกระบวนการผลิตจะมีน้ำเสียที่ปนเปื้อนโลหะหนัก ได้แก่ ตะกั่ว ทองแดง สังกะสี และโครเมียมในระดับสูง จากการศึกษาการติดตามตรวจสอบคุณภาพตะกอนดินชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออกซึ่งครอบคลุมพื้นที่บริเวณโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในปี พ.ศ.2559 พบว่า บริเวณดังกล่าวมีการปนเปื้อนตะกั่วในตะกอนดินร้อยละ 54 ของพื้นที่ที่ทำการตรวจสอบ และมีค่าตะกั่วในช่วง 21.3 – 134.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักแห้ง ปัจจุบันมีงานวิจัยด้านการดูดซับตะกั่วมุ่งเน้นไปที่การนำวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรมาพัฒนาเป็นตัวดูดซับ และมีการปรับสภาพ (Pretreatment) เพื่อกำจัดลิกนินและเฮมิเซลลูโลสร่วมด้วย เพื่อลดโครงสร้างผลึกของเซลลูโลส และเพิ่มพื้นที่ผิวและรูพรุนให้เอื้อต่อกระบวนการดูดซับ การศึกษาครั้งนี้จึงศึกษาการผลิตวัสดุดูดซับแทนนินจากธรรมชาติ โดยเลือกส่วนของพืชที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์และไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ได้แก่ ใบกระถิน มาศึกษาสมบัติและสภาวะที่เหมาะสมในการดูดซับโลหะหนักในน้ำเสียสังเคราะห์ที่มีโลหะตะกั่ว เพื่อใช้เป็นตัวดูดซับแทนนินจากธรรมชาติในการศึกษาการดูดซับโลหะหนักในน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อบำบัดน้ำเสียดังกล่าวให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ และเป็นแนวทางในการพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป

คำสำคัญ: ตัวดูดซับแทนนิน, การดูดซับตะกั่ว, ใบกระถิน