การศึกษาอัตราการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ในหมู่สุนัขจรจัด เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ปัญญาวัฒน์ บำรุงพงศ์ตระกูล, กมลชนก นาคใหม่, ศุภรดา พารา

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

มณธิชา คล้ายแก้ว, ศุภสฤษฎ์ ชาปัญญา

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีสุนัขที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจำนวนมากในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเนื่องจากประชาชนขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับอัตราการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า และการขาดมาตรการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ จึงจัดทำโครงงานนี้ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า มีความตื่นตัว กระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญในการนำสุนัขที่อยู่ในความดูแลไปรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และศึกษาหามาตรการในการควบคุมและป้องกันที่มีประสิทธิภาพ โดยเสนอรูปแบบการกำหนดตัวแปรเพื่อศึกษาอัตราการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร รูปแบบประกอบด้วย Susceptible ( สุนัขที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ) , Latent ( สุนัขที่มีโรคพิษสุนัขบ้าแอบแฝงอยู่ในระยะฝักตัว ) , Infectious ( สุนัขที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าและแสดงอาการของโรค ) และ Vaccinated ( สุนัขที่ได้รับการฉีดวัคซีน ) และอธิบายถึงการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในหมู่สุนัขจรจัด การจำลองแบบนี้สอดคล้องกับข้อมูลโรคพิษสุนัขบ้าในหมู่สุนัขจรจัด ซึ่งรายงานโดยกระทรวงสาธารณสุขของเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผู้จัดทำจึงประมาณค่าการแพร่ระบาดของเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าของประเทศไทย ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เบื้องต้นได้ R_0 ( Basic reproductive number ) โดย R_0=(βpωS^0)/((ω+u+μ)(μ+d)) และระบบจะเสถียรก็ต่อเมื่อมีค่า R_0<1 ผู้จัดทำได้จัด R_0 ให้อยู่ในรูปแบบของตัวแปรต่างๆ จากการพิสูจน์ของผู้จัดทำนั้น จะเห็นได้ว่า โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ตลอดทั้งปี เพียงแต่อัตราการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้านั้นเกิดในช่วงฤดูร้อนมากกว่าในช่วงฤดูฝน เนื่องจาก ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ของสุนัข จะมีอัตราการเผชิญหน้าและต่อสู้กันของสุนัขมาก ทำให้สุนัขได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงเวลานั้น จนกระทั่งโรคอยู่ในระยะฝักตัว ประมาณ 3-8 สัปดาห์ และเกิดการแสดงออกของโรคในช่วงฤดูร้อนพอดี ผู้จัดทำจึงเสนอแนวทางในการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สุนัข โดยการเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ลดอัตราการเกิดของสุนัขและการเผชิญหน้าและต่อสู้กันของสุนัข ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนสุนัขที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าลดลง