การศึกษาประสิทธิภาพอัตราส่วนสารควบคุมการเจริญเติบโต 6-BAP ต่อการเจริญเติบโตของต้นกระโดนบก

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

บัณฑิตา แก้วคำแสน, อักษราภัค ศรีทา, กันตวรรณ บุญคล้าย

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

วารินาถ โขพิมาย

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2560

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

จากการศึกษางานวิจัยจากหลายๆแหล่งทำให้พบพืชที่มีชื่อว่าต้นกระโดน ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Careya sphaerica Roxb. จัดอยู่ในวงศ์ Lecythidaceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 10-20 เมตร เปลือกต้นสีดำ หรือสีน้ำตาลดำ ต้นกระโดนเป็นไม้ที่มีสรรพคุณทางยาเช่นเปลือกต้นนำมาแช่น้ำดื่มแก้ปวดท้อง ท้องเสียหรือใช้เป็นยาสมานแผล ผลมีรสจืดเย็น ช่วยย่อยอาหาร บำรุงหลังคลอด (สุดารัตน์ หอมหวล, 2557) นอกจากนี้ยังมีสารฟีนอลิก(Phenolic) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (พิชญ์อร ไหมสุทธิกุล และ รุ่งนภา พงศ์สวัสดิ์มานิต, 2547) แต่ต้นกระโดนในปัจจุบันนั้นหายากมากขึ้น

ต้นกระโดนเป็นไม้ยืนต้นซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า10ปีในการปลูกกว่าจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และเนื่องจากการที่ต้องใช้เวลานานในการปลูกจึงทำให้ขยายพันธุ์ได้น้อย ประกอบกับการตัดต้นไม้เพื่อสร้างถนนหรือสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงการตัดเพื่อทำสวนยางและสวนผลไม้ แต่ต้นกระโดนนั้นสมควรอนุรักษ์ไว้เนื่องจากมีสรรพคุณทางยาเป็นจำนวนมากและยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีก

จากที่กล่าวมาในขั้นต้นว่าไม้ยืนต้นนั้นมีประโยชน์และถูกนำไปใช้ประโยชน์ในหลายๆด้าน แต่มีจำนวนน้อย หาได้ยาก และมีการขยายพันธุ์ได้ต่ำ ทางผู้จัดทำจึงได้คิดที่จะหาวิธีศึกษาวิธีการที่จะขยายพันธุ์ต้นกระโดนให้มีจำนวนมากขึ้น และยังมีสรรพคุณทางยา โดยผู้จัดทำใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยใช้อาหารเพาะเลี้ยงที่มีความเข้มข้นของฮอร์โมนพืชที่ต่างกัน เพื่อเพิ่มจำนวนต้นกระโดนให้มากขึ้นในระยะเวลาอันสั้น และเพื่อนำไปใช้ประยุกต์ในทางการแพทย์