การพัฒนาสูตรฟิล์มไคโตซานที่กักเก็บสารสำคัญจากกานพลูเพื่อต้านเชื้อราที่ก่อโรคขั้วหวีเน่าของกล้วย
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
กุลปริยา มาสาร, จิดาภา ขันทอง
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ณัฐภัสสร เหล่าเนตร์
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
กล้วยเป็นพืชที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แต่ได้พบว่ามีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวไม่ดีพอ ไม่เป็นระบบเหมือนประเทศผู้ผลิตหลัก ทำให้เกิดการสูญเสียขึ้นในระบบ ส่งผลให้ไม่สามารถที่จะเพิ่มผลผลิต และกระจายผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาดได้ ปัญหาสำคัญของกล้วยหลังการเก็บเกี่ยว คือ อ่อนแอต่อโรคขั้วหวีเน่า จะแสดงอาการเมื่อกล้วยเริ่มสุก และอาการจะเพิ่มขึ้นเมื่อกล้วยสุกมากขึ้น เชื้อราที่ทำให้เกิดอาการของโรคขั้วหวีเน่ารุนแรง คือ เชื้อรา Fusarium oxysporum แต่ส่วนมากพบการเข้าทำลายของเชื้อราหลายชนิดร่วมกันกับเชื้อราชนิด Lasiodiplodia theobromae และ Colletotrichum musae ร่วมด้วย คณะผู้จัดทำจึงมีความสนใจที่จะศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากกานพลู ในการยับยั้งเชื้อราก่อโรคขั้วหวีเน่าในกล้วย ทำการศึกษาโดยการเก็บตัวอย่างกล้วยน้ำว้าจากตลาดเทศบาลอำเมือง จังหวัดพิษณุโลก นำมาคัดแยกเชื้อรา ศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเชื้อราที่คัดแยกให้บริสุทธิ์แล้วมาศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ดูลักษณะโครงสร้างของเส้นใยและโคนิเดีย เพื่อจำแนกชนิดของเชื้อราก่อโรคขั้วหวีเน่าในกล้วย และนำเชื้อสาเหตุโรคที่แยกบริสุทธิ์ไปเก็บรักษาสำหรับใช้ตลอดการทดลอง ศึกษาตัวทำละลายที่เหมาะสมในการสกัดสมุนไพรกานพลูเพื่อนำไปใช้ในการศึกษาการยับยั้งเชื้อราสาเหตุของโรคขั้วหวีเน่าในกล้วยทดแทนการใช้สารเคมี ต่อมาทำการศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบสมุนไพรกานพลูในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราก่อโรคขั้วหวีเน่าบนอาหารเลี้ยงเชื้อโดยวิธี Posion Food แล้วศึกษาการทำฟิล์มไคโตซานที่มีส่วนผสมของสารสกัดสมุนไพรกานพลูและทดสอบประสิทธิภาพของฟิล์มในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราก่อโรคขั้วหวีเน่าบนอาหารเลี้ยงเชื้อ และศึกษาประสิทธิภาพของฟิล์มไคโตซานที่มีส่วนผสมของสารสกัดสมุนไพรกานพลูที่มีผลต่อคุณภาพของกล้วยในช่วงระยะเวลาการเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว
ผลจากการศึกษานี้ สามารถที่จะต่อยอดพัฒนาเป็นฟิล์มชีวภาพสำหรับยับยั้งเชื้อราก่อโรคเน่าในกล้วยและพืชอื่น ๆ ในเชิงพาณิชย์ได้ หรือใช้เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับฉีดป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อทดแทนการใช้สารเคมีที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมได้ ฟิล์มไคโตซานเคลือบผิวผลไม้ที่มีส่วนผสมของสารสกัดหยาบสมุนไพรกานพลูสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราก่อโรคขั้วหวีเน่าในกล้วยน้ำหว้าได้และมีความแตกต่างจากฟิล์มเคลือบผิวไคโตซานที่ไม่มีส่วนผสมของสารสกัดหยาบสมุนไพรกานพลู