การคัดเลือกเชื้อราที่มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดแคดเมี่ยม

ชื่อผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
  • กรรณิการ์ เฮงสกุลวงษ์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
  • พรสวรรค์ วิสุทธิวิเศษ

สถาบันการศึกษาที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ระดับการศึกษา

โครงงานวิทยาศาสตร์ในระดับการศึกษาปริญญาโทขึ้นไป

หมวดวิชา

โครงงานวิทยาศาสตร์ในสาขาวิชาชีววิทยา

วันที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

01 มกราคม 2541

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ในการทดลองนี้ได้ทำการคัดเลือกเชื้อราจากดินในพื้นที่ที่พบการปนเปื้อนของแคดเมียมสูง (0. 15 – 56.90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมดิน) ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากการศึกษาพบว่ามีเชื้อราที่สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาวะที่มีแคดเมียม 50 มิลลิกรัมต่อลิตร ทั้งหมด 20 ชนิด ในจำนวนนี้มีเชื้อรา 3 ชนิดที่สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาวะที่มีแคดเมียม 1,000 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยเชื้อรา HTSRB1 มีประสิทธิภาพสูงสุดในการกำจัดแคดเมียมออกจากอาหารเลี้ยงเชื้อ (Potato Dextrose Broth) จากการจัดจำแนกชนิดของเชื้อรา HTSRB1 สามารถบ่งชี้ได้ว่าเป็นเชื้อราในสายพันธุ์ Paecilomyces lilacinus เชื้อรานี้มีประสิทธิภาพในการกำจัดแคดเมียมออกจากอาหารเลี้ยงเชื้อและเติบโตได้ดีที่สุดที่ระดับ pH 6.0 และอุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส โดยสามารถกำจัดแคดเมียมออกจากอาหารเลี้ยงเชื้อได้มากถึงร้อยละ 47.73 ภายใน 7 วัน นอกจากนี้ยังพบว่ากลไกการกำจัดแคดเมียมของเชื้อรานี้เกิดจากการดูดซึมเข้าสู่เซลล์มากกว่าการดูดซับไว้ที่ผนังเซลล์ด้านนอก