๓.๑ บทสรุป
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักการ อุดมการณ์ ปรัชญาที่เกิดจากการเรียนรู้ถึงเหตุปัจจัยของสังคมไทยที่ต้องเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์และกระแสโลกานุวัตร
โลกาภิวัตน์ คือ การแผ่ถึงกันทั่วโลก การเข้าถึงโลกการเอาชนะโลก ซึ่งเป็นกระแสการกระทำของมหาอำนาจอุตสาหกรรม
โลกานุวัตร คือ การประพฤติตามโลก ในกระแสของการตั้งรับของประเทศโลกที่สาม (จนนำมาซึ่งการเดินตามอย่างเชื่อง ๆ)
นัยสำคัญของเศรษฐกิจแบบพอเพียงมีสาระสำคัญ คือการกลับฟื้นคืนจิตวิญญาณของมนุษย์สู่ชีวิตเศรษฐกิจที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงเศรษฐกิจเงินตรา แต่เป็นเศรษฐกิจที่ประกอบไปด้วยมนุษย์กับธรรมชาติเป็นแก่นสาร ทั้งยังเป็นการสอนให้มองและเข้าใจมนุษย์ในความหมายของความเป็นมนุษย์ชาติโดยรวม และเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ตามสัจธรรมความจริง
ยุทธศาสตร์การพัฒนาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงเป็นความหมายของการพัฒนาชนบทที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การแก้ปัญหาความยากจน แต่เกี่ยวเนื่องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ฯลฯ และเป็นการสร้างฐานต้นทุนทางสังคมและภูมิคุ้มกันสำหรับอนาคตของประเทศชาติโดยรวม
ทัศนวิสัยของเศรษฐกิจพอเพียงควรมีการกำหนดเป้าหมายไว้ ๓ ระดับ คือ (๑) ระดับต้นทาง เป็นความพออยู่พอกิน (๒) ระดับต่อมา คือเกษตรยั่งยืน จนถึง (๓) เป้าหมายปลายทาง คือเศรษฐกิจชุมชนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมั่นคง
ทัศนวิสัยในการพัฒนาการเกษตรควรเรียนรู้เพื่อเข้าใจถึงคุณค่าและความหมายของเกษตรกรรมอย่างถ่องแท้ เกษตรกรรมไม่ใช่ความหมายหยาบ ๆ เพียงเพื่อเพิ่มผลผลิตเพื่อส่งออก หาเงินตราต่างประเทศเพื่อผลกำไรสูงสุด แต่หากโดยรากฐานเป็นกิจกรรมของมนุษย์ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดประกอบเป็นระบบและกระบวนการหล่อเลี้ยงทั้งมวลโลก