๗.๒ คำอธิบาย
บทเรียนที่ได้จากการพัฒนาประเทศตลอดระยะเวลา ๔๐ ปีที่ผ่านมา คือ การใช้ปัจจัยความเจริญทางเศรษฐกิจในการวัดระดับการพัฒนาประเทศเป็นสำคัญ โดยให้คุณค่าทางเงินตราและวัตถุเป็นที่ตั้งจนนำไปสู่การพัฒนาที่ขาดสติและขาดการยั้งคิด
การพัฒนาที่ขาดสติและยั้งคิด เกิดขึ้นจากกระแสที่มุ่งไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม อันเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นแนวทางที่นำมาสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ถึงแม้การพัฒนาทางอุตสาหกรรมนำมาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงแรก แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้นเป็นไปอย่างไม่ยั่งยืน เนื่องจากปัจจัยหลักที่ประเทศไทยใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น ไม่ได้ตั้งอยู่บนสภาพความเป็นจริง สติปัญญา และแนวทางการดำเนินชีวิตแบบไทย
แนวทางการพัฒนาดังกล่าว จำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยหลักจากภายนอกประเทศ ได้แก่
เงินทุน นำมาสู่การเกิดภาระหนี้ของประเทศ
เทคโนโลยี เน้นการถ่ายโอนมากกว่าพัฒนา
เทคโนโลยี ทำให้ต้องพึ่งพาต่างประเทศ
คน ขาดการส่งเสริมขบวนการเรียนรู้ในระบบการศึกษาอย่างจริงจัง
ผู้บรรยายอธิบายว่า เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริเป็นแนวทางที่เน้นการปูรากฐานในชีวิต สร้างระบบชีวิตที่สอดคล้องกับความเป็นจริงและความเป็นไทย ดังนั้น พระราชดำริในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จึงสามารถใช้เป็นเครื่องควบคุมการขาดสติและการยั้งคิด อันเนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
เนื้อแท้ของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริคือ ความพอประมาณ ที่ตั้งอยู่บนความชื่อสัตย์โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น ความมีเหตุมีผล ซึ่งทำให้ไม่ขาดสติ ไม่ฟุ่มเฟือย และรู้รักสามัคคี ซึ่งเกิดจากความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทรต่อกัน อันเกิดผลในทางสร้างสรรค์ต่อสังคม
ผู้บรรยายได้ให้ข้อคิดเห็นในเรื่องความพอดีความพอประมาณ ว่าควรมีทั้งหมด ๕ ประการ ดังต่อไปนี้ คือ (๑) มีความพอดีด้านจิตใจ คือการตั้งสติ (๒) ตั้งปัญญาโดยเริ่มที่ตนเอง (๓) มีความเมตตา (๔) เอื้ออาทร (๕) มีความเข้าใจ
ความพอดีทางด้านสังคม คือสร้างความพอดีในทุกระดับของสังคม โดยเริ่มจากครอบครัว ชุมชน และสังคม
ความพอดีในทางด้านเศรษฐกิจ คือต้องอยู่อย่าง พอดี พอมี พอกิน ไม่หรูหราฟุ่มเฟือย
ความพอดีทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ คือใช้อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนรณรงค์รักษาทรัพยากรธรรมชาติ
ความพอดีทางด้านเทคโนโลยี คือต้องใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวะและความต้องการของประเทศ