๑.๑ บทสรุป
ผู้เขียนนำเสนอว่า ความเสี่ยงเป็นปัญหาสำคัญสำหรับเกษตรกร ทั้งความเสี่ยงด้านราคาสินค้า ความเสี่ยงด้านการพึ่งพาและราคาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ ความเสี่ยงด้านธรรมชาติ ความเสี่ยงด้านแบบแผนการผลิต ซึ่งเกษตรกรเองได้มีการบริหารความเสี่ยงบางส่วนแล้ว เช่น การกระจายความเสี่ยงในกิจกรรมด้านการเกษตร โดยใช้เกษตรผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ และการกระจายความเสี่ยงออกไปสู่กิจกรรมนอกการเกษตร โดยทำหัตถกรรม อุตสาหกรรมย่อยในครัวเรือน รับจ้างนอกภาคเกษตร ส่วนภาครัฐเองก็มีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระความเสี่ยงของเกษตรกรด้วยนโยบายประกันราคา
ผู้เขียนให้ความเห็นว่า ปัญหารายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ไม่ได้เกิดจากความเสี่ยงแต่อย่างเดียว ความเสี่ยงเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมเกษตรกรที่ยากจนและมีทุนน้อย ฟื้นตัวได้ลำบากขึ้นเมื่อเผชิญกับผลกระทบที่รุนแรง
ผู้เขียนเห็นว่า ทฤษฎีใหม่มองการณ์ไกลไปกว่าประเด็นเรื่องความเสี่ยง โดยในขั้นที่สองและขั้นที่สามของทฤษฎีใหม่ เป็นเรื่องของการรวมตัวกันของเกษตรกรในรูปของกลุ่มและสหกรณ์ ร่วมมือกันในด้านการผลิตและการตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคมและศาสนา โดยให้ร่วมมือกับหน่วยราชการ มูลนิธิ ธนาคารและบริษัทเอกชนเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด
นอกจากนี้ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากภายนอกและภายใน กล่าวคือ ได้เตรียมจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นไว้ได้แล้ว การใช้ทฤษฎีใหม่ในภาคเกษตรจะช่วยลดความเสี่ยงและสามารถอยู่อย่างพอเพียงได้ คือมีพอใช้บริโภคภายในครัวเรือน และนำผลผลิตส่วนเกินไปหารายได้อีกทางหนึ่ง นั่นคือมีทั้งความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันเพื่อลดต้นทุนการครองชีพและการผลิตของเกษตรกร