การสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอให้ริเริ่มการสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสานต่อความคิดและเชื่อมโยงการขยายผลที่เกิดขึ้นจากการนำหลักปรัชญาฯ ไปใช้อย่างหลากหลายรวมทั้งเพื่อจุดประกายให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับ และการนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในทางปฎิบัติในทุกภาคส่วนของสังคมอย่างจริงจัง

...ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อน ด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอควรแล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นที่สูงขึ้นตามลำดับต่อไป ...การถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญ ให้ค่อยเป็นไปตามลำดับ ด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลว และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์

—พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗

จากพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระองค์ตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ เป็นต้นมา จะพบว่า พระองค์ท่านได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง ความพอมีพอกิน พอมีพอใช้ การรู้จักความพอประมาณ การคำนึงถึงความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว และทรงเตือนสติประชาชนคนไทยไม่ให้ประมาท ตระหนักถึงการพัฒนาตามลำดับขั้นตอนที่ถูกต้องตามหลักวิชา ตลอดจนมีคุณธรรมเป็นกรอบในการดำรงชีวิตซึ่งทั้งหมดนี้เป็นที่รู้จักภายใต้ชื่อว่า เศรษฐกิจพอเพียง

สศช.​ จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ มาร่วมกันกลั่นกรองพระราชดำรัสฯ สรุปเป็นนิยาม ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และได้อัญเชิญมาเป็นปรัชญานำทางในการจัดทำ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับมีความเข้าใจและนำไปประกอบการดำเนินชีวิต

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างเครือข่ายเรียนรู้ ให้มีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นกรอบความคิด เป็นแนวทางในการปฎิบัติ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทยในทุกภาคส่วน

วัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนทุกคนสามารถนำหลักปรัชญาฯ ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและปลูกฝังปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการดำรงชีวิตให้อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนนำไปสู่การปรับแนวทางการพัฒนาให้อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการเสริมพลัง ให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปได้อย่างมั่นคงภายใต้ กระแสโลกาภิวัตน์ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างฐานราก ทางเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็งรักษาความสมดุลของทุน และทรัพยากรในมิติต่างๆ ตลอดจนสามารถปรับตัวพร้อมรับ การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างรู้เท่าทัน และนำไปสู่ความอยู่เย็น เป็นสุขของประชาชนชาวไทย

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นในลักษณะเครือข่ายและการระดมพลังจากทุกภาคส่วน ได้แก่

(๑) เครือข่ายด้านผู้นำทางความคิด

(๒) เครือข่ายด้านประชาสังคม

(๓) เครือข่ายด้านสื่อมวลชนและประชาชน

(๔) เครือข่ายด้านสถาบันการศึกษาและเยาวชน

(๕) เครือข่ายด้านองค์กรภาคธุรกิจเอกชน

(๖) เครือข่ายด้านองค์กรภาครัฐ

(๗) เครือข่ายด้านวิชาการ

(๘) เครือข่ายด้านสถาบันการเมือง

ทั้งนี้ แกนกลางขับเคลื่อนมี ๓ ระดับ ได้แก่ คณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง และกลุ่มงานเศรษฐกิจพอเพียงและธนาคารสมองในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ทก.) ทำหน้าที่ สำนักงานเลขานุการปฏิบัติงานในการขับเคลื่อน และจะทูลเกล้า ทูลกระหม่อมถวายผลการดำเนินงาน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัย เฉลิมพระชนมพรรษา ครบรอบ ๘๐ พรรษา ในเดือน ธันวาคม ๒๕๕๐

ขอบเขตการดำเนินงานขับเคลื่อน

ขั้นตอนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง