ผญา

ผญา มาจากคำว่า ปรัชญา ในภาษาสันสกฤต หรือ มาจากคำว่า ปัญญา ในภาษาบาลี แล้วกลายมาเป็น ปรัชญา อีสานออกเสียง [ปร] เป็น [ผ] เช่น คำว่า ปราบ อีสานออกเสียงว่า [ผาบ] คำว่า เปรต อีสานออกเสียง เป็น [เผด] คำว่า ปรากฏ อีสานออกเสียงเป็น [ผากด] ดังนั้นคำว่า ปรัชญา จึงกลายเป็น ผญา ในภาษาอีสาน

ผญา เป็นถ้อยคำสำนวนที่ปราชญ์อีสานร้อยเรียงในรูปของคติธรรม คำสอน ภาษิตโบราณ คำเกี้ยวพาราสี คำอวยพร คำเปรียบเทียบจากนิทาน พื้นบ้าน นิทานชาดก ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และประสบการณ์ของปราชญ์ ชาวบ้าน ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาของผู้พูด เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาว อีสานที่บอกเล่าสืบทอดมาแต่โบราณ ผญา จัดเป็น วรรณกรรมมุขปาฐะ ปรากฏอยู่ในนิทานพื้นบ้าน นิทานก้อม เพลงพื้นบ้าน หมอลำ เป็นต้น ภายหลังได้มีการจดบันทึกไว้ เรียกว่า วรรณกรรมลายลักษณ์

ในอดีต ผญามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของชาวอีสานเป็นอย่างมาก ชาว อีสานใช้ผญาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ ผู้ใหญ่ใช้ผญาภาษิตเพื่อสั่งสอน ผู้น้อยให้ประพฤติตนเป็นคนดีมีศีลธรรม หนุ่มสาวใช้ผญาเพื่อเกี้ยวพาราสีกัน และเป็นคติเตือนใจในการอยู่ร่วมกันในสังคม ผญาของชาวอีสานมีอยู่เป็น จำนวนมาก เช่น ผญาคำสอน ผญาภาษิต ผญาเกี้ยวหรือผญาเครือ ผญาอวยพร ผญาตวงโตยหรือยาบสร้อย ผญาเปรียบเทียบ ผญาเหล่านี้มัก จะได้ยินจากปากของผู้สูงอายุมาแต่อดีต

รูปแบบและการสัมผัสตามฉันทลักษณ์ของผญาที่ใช้พูดจากันโดยทั่วไป มี ๒ ลักษณะคือ ผญาที่อยู่ในรูปของร้อยกรอง มีเสียงสระสัมผัสในแต่ละ วรรคต่อเนื่องกัน คล้ายกับสัมผัสของร่ายและกลอน ทั้งนี้จำนวนคำของแต่ละ

วรรคและจำนวนวรรคในแต่ละบทของผญาไม่กำหนดตายตัว เช่น ครั้นไป ให้ลา ครั้นมาให้คอบ [คันไปไห่ลา คันมาไห่คอบ] หรือผญาว่า นึ่งข้าวให้มีท่า ปิ้งปลาให้มีวาด (นึ่งเข่าไห่มีท่า ปิ้งปาไห่มีวาด] และอีกลักษณะคือผญาที่ อยู่ในรูปของร้อยแก้ว ไม่มีเสียงสระสัมผัสในแต่ละวรรค แต่อาศัยจังหวะ ในการออกเสียง และใช้ระดับเสียงสูงต่ำ หนักเบา เป็นหลักสลับกันไป เช่น ใผสิมาสร้าง แปลงรวงรังให้หนูอยู่ ครั้นปากบ่กัด ตีนบ่ถีบ สังสิได้อยู่รัง (ไผสิมาส่าง แปงฮ่วงฮังไห่หนูอยู่ คันปากบ่กัด ตีนบ่ถีบ สังสิได้อยู่ฮัง] หรือผญา ที่ว่า ขึ้นปลายตาลแล้ว ให้เหลียวลงต่ำ ขึ้นดอยสูงยอดด้อแด้ ให้เหลียว พื้นแผ่นดิน (ขึ้นปายตานแล่ว ไห่เหลียวลงต่ำ ขึ้นดอยสูงยอดด้อแด้ ไห่เหลียว พื้นแผ่นดิน]

คนอีสานแต่โบราณ เมื่อพบกันในโอกาสสำคัญ เช่น ในเทศกาลงานบุญ ต่าง ๆ มักทักทายโต้ตอบกันด้วยการจ่ายผญา เพื่อแสดงไหวพริบด้านภาษา และให้ความสนุกสนานรื่นเริง ซึ่ง การจ่ายผญา คือการพูดโต้ตอบกันด้วย สำนวนโวหาร ผู้ที่มีความสามารถในการจ่ายผญาได้เก่ง ต้องเป็นผู้รู้มากฟังมาก มีปฏิภาณไหวพริบในการจดจำและโต้ตอบกับผู้อื่นได้อย่างทันท่วงที

ในโอกาสนี้ คณะกรรมการจัดทำเนื้อหาวิชาการด้านภาษาไทยถิ่น ภาคอีสาน ได้รวบรวมและคัดเลือกผญาที่น่าสนใจและมีคุณค่าทางภูมิปัญญา ท้องถิ่น เพื่อให้เยาวชนและผู้ที่สนใจทั่วไปได้ศึกษา ค้นคว้า และอนุรักษ์สืบทอด ให้แพร่หลายต่อไป