ระยะเวลาดำเนินงาน
การสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในระยะแรก จะมีระยะเวลาการดำเนินงาน ๔ ปี ตั้งแต่ตุลาคม ๒๕๔๖ - ธันวาคม ๒๕๕๐ โดยจะมีการประเมินผลการดำเนินการ เพื่อปรับแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความก้าวหน้าในแต่ละช่วง
ผลแห่งความสำเร็จจากการเผยแพร่ขยายผลให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่ประชาชนทั่วไปจะเห็นเป็นรูปธรรมได้จากการสร้างคน สร้างตัวอย่าง สร้างเครือข่ายที่จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน ทั้งเครือข่ายเชิงพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และเครือข่ายในสาขาอาชีพต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนที่มีพลัง
เครือข่ายต่างๆ อาจพร้อมใจกันนำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องและโดดเด่น ในพื้นที่ของแต่ละภาคี ตลอดปี ๒๕๕๐ เพื่อเป็นการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผลการดำเนินงานเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ครบรอบ ๘๐ พรรษา
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ระยะสั้น
เกิดกระบวนการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในประชาชนทุกระดับ เริ่มจากกลุ่มเยาวชน จนถึงระดับนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักธุรกิจ โดยมีผลลัพธ์คือ หนังสือ หรือสื่อต่างๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงประกอบการเรียนรู้
เกิดความรู้ ความเข้าใจ และกระแสสนับสนุนเกี่ยวกับปรัชญาฯ ในทุกวงการและทุกระดับ และเกิดกระแสสนับสนุนในหมู่ประชาชนทุกกลุ่ม ให้มีความรู้และเข้าใจแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตรงกันมากขึ้น
เกิดการพัฒนาและสร้างคน ที่มีความรู้ความเข้าใจในหลักเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างผู้นำที่จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงเป็นจำนวนมากขึ้น
ระยะยาว
ประชาชนทุกระดับสามารถแยกแยะได้ว่า อะไรเป็นเศรษฐกิจพอเพียงและอะไรที่ไม่ใช่ รวมทั้งสามารถขยายความเข้าใจและค้นหาตัวอย่างเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นรูปธรรมได้ในหลายรูปแบบ
เกิดกระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเครือข่ายเรียนรู้ในภาครัฐ ธุรกิจเอกชนประชาสังคม และวิชาการ ที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคีฝ่ายต่างๆ ให้เกิดการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถนำไปใช้ในทุกระดับอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย ภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่างกัน อาทิ
ภาคราชการ ปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหาร ที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ประกอบการกำหนดนโยบายและวางยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านต่างๆ โดยเชื่อมโยงผลประโยชน์ระดับท้องถิ่นและระดับชาติเข้าด้วยกัน เช่น ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมและมุ่งรักษาความสมดุลของการพัฒนาเพื่อผลแห่งความยั่งยืน มีการจัดทำระบบเตือนภัยทางเศรษฐกิจ และสังคมด้านความพอเพียง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและนำไปสู่การพัฒนาอย่างสมดุล
ภาคธุรกิจ สามารถนำเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการให้มีความโปร่งใส เป็นธรรมมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี บนพื้นฐานของการมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องและลึกซึ้ง รู้เท่าทันสถานการณ์ เช่น ริเริ่มมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการทำธุรกิจ
ระดับชุมชน สามารถนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต เช่น พัฒนาแนวคิดการดำเนินชีวิตให้สมาชิกคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวมควบคู่กันไป รู้จักพึ่งพาตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่นได้ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน และรู้จักพัฒนาตนเองให้อยู่ดียิ่งขึ้นด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์และแลกเปลี่ยนร่วมกับสมาชิกจากชุมชนอื่นๆ บนพื้นฐานของความไม่ประมาท