ข้าว... ความสำคัญคุณค่าทางอาหาร และการปนเปื้อน

ผู้เขียน

ศุภนาถ เห็นสว่าง

เอกสารที่มา

วารสารสิ่งแวดล้อม 21, 1 (ม.ค.-มี.ค. 2560) 15-18

หัวข้อ:

ข้าว. ข้าว--แง่โภชนาการ.

บทคัดย่อ

ข้าวเป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย มีวิตามินและเกลือแร่ที่สำคัญ ข้าวหรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Oryza Sativa เป็นพืชในวงศ์หญ้า(Family : poaceae) เป็นแหล่งอาหารหลักที่สำคัญของโลก ในประเทศไทยมีการปลูกข้าวเพื่อบริโภคมายาวนานมากกว่า 5,000 ปี นอกจากการบริโภคข้าวภายในประเทศปีละประมาณ 21 ล้านตัน ประเทศไทยยังถูกจัดอันดับให้เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ 1 ใน 5 ของโลก พันธุ์ข้าวที่นิยมปลูก เพื่อการค้าขายและการบริโภคจะผ่านการคัดเลือกหรือปรับปรุงพันธุ์มาแล้ว เช่น ขาวดอกมะลิ105 เหลืองประทิว123 และ กข12 ข้าวประกอบไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น คาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 70-80 ส่วนใหญ่เป็นแป้ง น้ำตาลซูโครส (Sucrose) และน้ำตาลเดกซ์ทริน (dextrin) โปรตีน ร้อยละ7-8 ไขมัน วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 โพแทสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียม โดยปริมาณของวิตามินและเกลือแร่ในข้าวกล้องจะมีมากกว่าข้าวขาว 3 เท่า การปนเปื้อนและการตกค้าง ของสารพิษในข้าว เป็นไปได้หลายสาเหตุ เช่นโลหะหนักในดิน และน้ำสู่เมล็ดข้าว การใช้สารปราบศรัตรูพืช ลักษณะการจัดจำหน่าย และการเก็บรักษาข้าว โดยส่วนที่อาจปนเปื้อนในข้าวได้แก่ สารหนู และเมทิลโบรไมด์ สารหนูเป็นสารที่พบและเกิดจากธรรมชาติ เมื่อได้รับสารหนูเฉียบพลันจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หากรับสัมผัสเป็นระยะเวลานานจะมีจุดสีดำตามฝ่ามือและฝ่าเท้า และอาจจะส่งผลทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด และมะเร็งตับอีกด้วย สารรมเมทิลโบรไมด์ (Methylbromide) หรือ โบรโมมีเทน (Bromome-thane) เป็นก๊าซที่ไม่มีสีและกลิ่น ไม่ติดไฟ ไม่ระเบิด และไม่กัดกร่อนโลหะ เป็นสารที่ใช้ในการเกษตรเพื่อกำจัดศรัตรูพืชและสัตว์ ซึ่งสารรมเมทิลโบรไมด์หากสูดดมจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อปอดและระบบประสาทได้