๑.๑ บทสรุป

(๑) เศรษฐกิจพอเพียง ในความหมายของผู้เขียน

เศรษฐกิจพอเพียงคือ วัฒนธรรม ไม่ใช่เทคนิคการเพาะปลูก แต่เป็นศีลธรรมความไม่ละโมบและการประหยัด

เศรษฐกิจพอเพียง เปิดโอกาสให้ทุกคนพออยู่ได้แตกต่างจากการคิดในด้านเทคนิค ถ้าคิดแต่ด้านเทคนิคก็จะย้ำเฉพาะคนทำให้เกิดการเอาตัวรอด ซึ่งไม่ตรงกับอุดมการณ์ของเศรษฐกิจพอเพียง การคิดทางเทคนิคทำให้คนไม่เชื่อมโยงกัน ไม่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน ตัวใครตัวมัน อันจะเป็นโทษแก่ธรรมชาติด้วยเพราะความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของสมาชิกในชุมชนที่มีให้แก่เพื่อนบ้านและธรรมชาตินั้นถือเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน แนวคิดนี้สอดคล้องกับอุดมการณ์ของชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่จะคำนึงถึงการพึ่งพาอาศัยกันพร้อมๆ กับรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติไปด้วย

โลกทรรศน์ของเศรษฐกิจพอเพียง สอดคล้องกับอุดมการณ์ คือ มนุษย์แต่ละคนไม่ได้เป็นศูนย์กลาง แต่ละคนอยู่ได้ด้วยการพึ่งพากันอาศัยกันและพึ่งพาธรรมชาติ โลกทรรศน์ของเศรษฐกิจพอเพียงจะไม่ให้ความสำคัญกับเงินโดยถือว่า เงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ความมั่นคง แต่เงินอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชนสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์สามารถพึ่งพาตัวเองได้ในเรื่องปัจจัยยังชีพพื้นฐาน

ความสัมพันธ์ทางสังคมของเศรษฐกิจพอเพียง คือความสัมพันธ์ของชุมชนเดิม หมายถึง สมาชิกสามารถติดต่อสัมพันธ์กันได้โดยตรง ซึ่งผ่านระบบเครือญาติ มีพิธีกรรมที่มีรากฐานทางวัฒนธรรมรองรับ มีค่านิยมที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความไว้วางใจกันเคารพเชื่อฟังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งค่านิยมเหล่านี้สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นวัฒนธรรมทวนกระแสฉะนั้นการผลักดันเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดผลต้องคิดถึงระดับประเทศและระดับโลก เพราะโลกถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมที่ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

เป้าหมายหลักของเศรษฐกิจพอเพียง คือความมั่นคงในปัจจัย ๔ ความยั่งยืนของระบบนิเวศ และวิถีชีวิต

ประเด็นที่ควรศึกษาต่อ

  • เศรษฐกิจพอเพียงจะสัมฤทธิ์ผลได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของบุคคล ชุมชน และรัฐ บนพื้นฐานของการมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และรัฐ มีระบบความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างกัน มีโลกทรรศน์ที่เอื้อต่อเศรษฐกิจพอเพียงสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นและธรรมชาติได้อย่างเกื้อกูล และรักษาฐานการผลิต คือ ทรัพยากร ความรู้ การจัดการ และการเรียนรู้ในชุมชนไว้ได้

  • เศรษฐกิจพอเพียงสัมพันธ์กับการพัฒนาบุคลากรในชุมชน จะเตรียมบุคคลอย่างไร บุคคลควรมีสถานะทางการเมืองเศรษฐกิจอย่างไร สัมพันธ์กับทรัพยากรอย่างไร ระหว่างบุคคลและชุมชนต้องมีกฎหมายอย่างไร รัฐควรทำอย่างไร และไม่ควรทำอย่างไรจะปกป้องบุคคลและชุมชนอย่างไร

  • เศรษฐกิจพอเพียงสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมแต่ปัญหาก็คือ เศรษฐกิจพอเพียงจะสามารถนำไปใช้จัดการสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายอย่างประเทศไทยได้หรือไม่ และจะสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียงโดยไม่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมจะได้หรือไม่

  • สำนึกถึงความเสมอภาคเท่าเทียม มีความสำคัญในเศรษฐกิจพอเพียง แต่ท่ามกลางการกระจายรายได้ที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ จะเป็นอุปสรรคต่อการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนหรือไม่ รวมทั้งจะชี้แจงให้คนส่วนใหญ่ได้เข้าใจถึงความสำคัญ และผลดีของการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร หากยังมีคนส่วนน้อยใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยและใช้วัตถุที่มีราคาแพง

  • วัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงเปิดให้มีความเปลี่ยนแปลงและพลวัตหรือไม่ และควรทำอย่างไร

  • ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจผลักดันให้มีการเปิดเสรีในทุกด้านภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้รัฐไม่มีอำนาจจะปกป้องการผลิตในระบบเศรษฐกิจของตนได้เลย ชุมชนจะป้องกันตนเองอย่างไร และจะส่งเสริมให้วัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นนอกชุมชนหรือในชุมชนที่ไม่ใช่ชุมชนดั้งเดิมได้อย่างไร