หลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง
การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาทโดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักพิจารณาอยู่ ๕ ส่วน ดังนี้
๑. กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทาง การดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐาน มาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัย และ วิกฤต เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา
๒. คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำ มาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้น การปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
๓. คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย ๓ คุณลักษณะ พร้อมๆ กัน ดังนี้
ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและ ผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับ ระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผล ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัว ให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะ เกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
๔. เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรม ต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ และ คุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้ เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบ ที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบ การวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ไม่โลภ และไม่ตระหนี่
๕. แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนา ที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี
"ถ้าไม่มีเศรษฐกิจพอเพียง เวลาไฟดับ... จะพังหมด จะทำอย่างไร. ที่ที่ต้องใช้ไฟฟ้าก็ต้องแย่ไป. ...หากมีเศรษฐกิจพอเพียงแบบไม่เต็มที่ ถ้าเรามีเครื่องปั่นไฟ ก็ใช้ปั่นไฟ หรือถ้าขั้นโบราณกว่า มืดก็จุดเทียน คือการมีทางที่จะแก้ปัญหาเสมอ. ...ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ก็มีเป็นขั้นๆ แต่จะบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้. จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน. .....พอเพียงในทฤษฎีหลวงนี้ คือให้สามารถที่จะดำเนินงานได้"
—พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒