สำนวนชาวใต้

สำนวนหรือสำนวนโวหาร เป็นการใช้คำเชิงเปรียบเทียบด้วยคารมคมคาย ชวนคิดชวนฟัง โดยเฉพาะสำนวนชาวใต้ประกอบด้วยคำตั้งแต่สองพยางค์ ขึ้นไป เช่น ทำเฒ่า, ตีนฉัดเม่น (ฉัด แปลว่า เตะ), พีเหมือนหมูลด (หมูลด แปลว่า หมูตอน), ขี้ไม่ให้หมากิน, ปูนนอกเต้าข้าวนอกหม้อ, พูดเหมือน นกยางขี้ใส่เล (เล แปลว่า ทะเล), เน่งเขาว่าโม่โฉเขาว่าบ้า (เน่ง แปลว่า นิ่ง, โม่ แปลว่า โง่, โฉ แปลว่า ฉาวโฉ่) สำนวนชาวใต้มีทั้งคำพูดธรรมดา เช่น หนอยช้างเหยียบ (หนอย แปลว่า เบา ๆ) หรือใช้คำคล้องจอง เช่น ต้มปู ไม่แดงแกงหอยไม่เปื่อย สำนวนชาวใต้ สะท้อนให้เห็นชีวิตชาวใต้หลายด้าน เช่น

ความเชื่อ : อย่าข้ามหัวฤาษี (ฤๅษีรูปหนังตะลุง) หยาจกเหมือนเปรตเดือนสิบ (หยาจก แปลว่า ตะกละ) การค้า : จีนไม่ตายผ้าลายโข (โข แปลว่า มากมาย) อาหารการกิน : เมืองคอนพุงปลา สงขลาผักบุ้ง เมืองลุงลอกอ ทำเลที่ตั้ง : เมืองลุงมีดอน เมืองคอนมีท่า เมืองตรังมีนา สงขลามีบ่อ

สำนวนชาวใต้ยังสะท้อนค่านิยม เช่น ค่านิยมในความสุขความสบาย ของผู้ชายยุคนั้น อย่าง ขี้บนขอน นอนหวันสาย ได้เมียสาว กินข้าวขาว หรือ ให้ข้อสังเกตคนไม่ควรคบ อย่าง คนปลิ้นพูดหวาน คนพาลพูดโกง คนโคลง พูดเพราะ (คนโคลง แปลว่า คนประจบสอพลอ) รวมทั้งผู้ปกครองหรือ "นาย" ไร้คุณธรรม พึงระมัดระวัง อย่าง นายรักเหมือนเสือกอด หนีนายรอดเหมือน เสือหา

ปัจจุบันสำนวนชาวใต้บางสำนวน ชาวใต้ยังคงใช้พูดหรือเขียน แต่บาง สำนวนก็เลือนหายไปตามกาลเวลา และตามที่สังคมเปลี่ยนแปลง

(รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์)