ทฤษฎีใหม่
"...แม้แต่กิจการ ที่นายกฯ ได้พูดถึงเรื่องทฤษฎีใหม่ เรื่องอะไร พวกนี้ก็ต้องมีผู้ที่สนับสนุน เพราะว่าชาวบ้านหรือเกษตรกรอาจจะไม่มี ทุนพอสำหรับเริ่มโครงการ. แต่ถ้าสนับสนุนแล้ว คือเอกชนสนับสนุนก็ได้ ทางราชการก็สนับสนุนด้วย เงินที่สนับสนุนจะเป็นเงินที่ทำงาน. เงินทำงานนี่ก็หมายความว่ามีผลขึ้นมา มีผลขึ้นมาต่อเกษตรกร และมีผล ต่อประเทศชาติในส่วนรวม. เศรษฐกิจของประเทศชาติก็จะไม่ฝืดเคือง และอย่างนี้ก็ทำได้เร็วพอใช้.
เมื่อไม่กี่เดือนมานี่มีคนเอาที่ดินมาให้....เขาให้. จะทำโครงการอะไร ก็ได้. ตอนแรกเขานึกจะตั้งวัด. มีเพื่อนของเขาคัดค้านว่า มีวัดอยู่แล้ว. เขาก็เลยบอกว่าจะตั้งที่พักสำหรับโรงพยาบาล ซึ่งอยู่ห่างจากที่นั้น ประมาณหนึ่งกิโลเมตร. ในที่สุดเขาเอามาให้ บอกว่าทำอะไรก็ได้. เรานึกว่าถ้าทำที่พักโรงพยาบาลก็อาจจะยังไม่มีประโยชน์ในทันที. จึงตกลง ทำโครงการสาธิต "ทฤษฎีใหม่" ในที่ที่เหลือ. ส่วนหนึ่งจะทำการ เพาะปลูกแบบชาวบ้าน แบบไม่ได้ส่งเสริม หมายความว่าใช้น้ำฝน ใช้ธรรมชาติ. อีกส่วนหนึ่งจะทำแบบ "ทฤษฎีใหม่" โดยขุดสระและ แบ่งเป็นส่วนที่จะปลูกข้าว และส่วนที่จะปลูกไม้ยืนต้น กับปลูกพืชไร่ พืชสวน...."
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐)
"....ทฤษฎีใหม่นี้เกิดขึ้นมาอย่างไร. ก็มาจากการปฏิบัติ ซึ่งเป็น การปฏิบัติของคนอื่นด้วยตั้งแต่ต้น. ก่อนที่เกิดเป็นทฤษฎีใหม่ตามที่ เรียกว่าทฤษฎีใหม่ในพระราชดำริ คือ การพัฒนาทางการเกษตร โดย เพาะปลูกหลายอย่างในที่เดียวกัน หรือผลัดปลูกหมุนเวียนกัน. อย่างเช่น เขาปลูกข้าว หลังจากฤดูกาลข้าว เขาก็ปลูกถั่ว อย่างนี้เป็นทฤษฎีใหม่ แล้ว....เมื่อเป็นทฤษฎีใหม่แล้ว ก็มาเข้าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง. คนที่ทำนี้ ต้องไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ฟุ้งเฟ้อ. ได้เขียนไว้ในทฤษฎีนั้นว่าลำบาก เพราะผู้ที่ปฏิบัติ ต้องมีความเพียร และต้องอดทน..... และไม่ใช่ว่าทำ ได้ทุกแห่ง ต้องเลือกที่.... แล้วแต่สภาพของภูมิประเทศ ... เศรษฐกิจ พอเพียง และทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจริญแก่ประเทศได้. แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน. ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้...."
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑)